In Focusวิกฤตดอลลาร์ตกต่ำ ตอกย้ำภาพลักษณ์สหรัฐย่ำแย่ จุดกระแสธุรกรรม Carry Trade

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 12, 2009 13:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

หลายเดือนที่ผ่านมานี้ วิกฤตการณ์ค่าเงินดอลลาร์ของสหรัฐถูกหยิบขึ้นมาบนโต๊ะสนทนาของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่เพียงแต่เฉพาะผู้เชี่ยวชาญระดับรางวัลโนเบลเท่านั้น แม้แต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ธนาคารโลก หรือสื่อยักษ์ใหญ่ ต่างก็พูดถึงสกุลเงินดอลลาร์ในวงกว้าง ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำลงอย่างฉุดไม่อยู่เทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก รวมถึงสกุลเงินในเอเชีย ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าดอลลาร์ที่อ่อนแอเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ "หน้าตา" ของสหรัฐในฐานะพี่ใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลก

ภาวะตกต่ำของค่าเงินดอลลาร์ถูกวิเคราะห์ผ่านสายตาของผู้เชี่ยวชาญหลายคน บางคนมองว่าปัจจัยทางจิตวิทยาและแรงกดดันทางการเมืองอยู่เบื้องหลังการอ่อนค่าของดอลลาร์ ขณะที่หลายคนเชื่อว่าเป็นผลพวงมาจากปัจจัยทางเศรษฐกิจในสหรัฐเอง แต่ก็มีไม่น้อยที่เชื่อว่าสหรัฐกำลังถูกขนาบจากหลายประเทศที่ต้องการกระชากบัลลังค์การเป็นผู้จัดระเบียบโลกของสหรัฐ รวมถึงจีน และที่สร้างความฮือฮาไม่น้อยก็เห็นจะเป็นคราวที่หนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษกระพือข่าวว่า กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) เริ่มเจรจาร่วมกับจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อ "ยุติ" การใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมซื้อขายน้ำมัน หนำซ้ำยังหาช่องทางที่จะเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่นในตระกร้าเงิน รวมถึง สกุลเงินเยน หยวน และยูโร ข่าวดังกล่าวสร้างความแตกตื่นให้กับตลาดปริวรรตเงินตราทั่วโลก ส่งผลให้ดอลลาร์ถูกเทขายอย่างหนัก

ความคืบหน้าของทิศทางค่าเงินดอลลาร์ที่น่าติดตามที่สุดในเวลานี้คงหนีไม่พ้นข่าวที่ดอลลาร์ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการเล่นแร่แปรธาตุอีกครั้ง ในนามของการทำ "US Dollar Carry Trade" หรือการกู้ยืมเงินในรูปสกุลดอลลาร์ที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำสุด ไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ...อย่างนี้เขาเรียกว่าเข้าตำรา "เหรียญย่อมมี 2 ด้าน"

* ตามรอยเส้นทางดอลลาร์ นับจากวันที่สหรัฐ "หักดิบ" ลดดอกเบี้ยรวดเดียวเหลือ 0-0.25%

ข่าวที่ทำให้นักลงทุนในตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก อึ้ง และ ทึ่ง ได้มากที่สุดในช่วงปลายปี 2551 คงไม่มีข่าวไหนแรงเทียบเท่าข่าวธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed funds rate) ลง 0.75-1.0% เหลือเพียง 0-0.25% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.ปีพ.ศ.2497 จากเดิมที่ 1.00% พร้อมกับปรับลดอัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (discount rate) ลงอีก 0.75% สู่ระดับ 0.50% จากเดิมที่ระดับ 1.25% เพื่อหวังปกป้องเศรษฐกิจไม่ให้ถดถอยลงสู่ระดับลึกและรุนแรง ทั้งนี้ก็เพราะในไตรมาส 4 ปี 2551 เศรษฐกิจสหรัฐถอยร่นลงทุกภาคส่วน รวมถึงตลาดแรงงาน ภาคอุตสาหกรรม และตัวเลขการใช้จ่ายผู้บริโภค... นี่ยังไม่นับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ดิ่งเหวจนกู่ไม่กลับไปตั้งแต่ไตรมาส 2... สิ้นเสียงแถลงการณ์ของเฟด ดอลลาร์สหรัฐร่วงทันทีเมื่อเทียบกับเงินแทบทุกสกุล เพราะการหั่นดอกเบี้ยแบบ "ใจถึง" ของเฟดในคราวนี้ยิ่งทำให้สินทรัพย์ในรูปสกุลเงินดอลลาร์มีมูลค่าน้อยลงไปอีก

นับตั้งแต่เฟดปฏิบัติการเชิงรุกบุกเดี่ยวทุบดอกเบี้ยในประเทศตนเองลงสู่กรอบ 0-0.25% ดอลลาร์ก็ดิ่งลงเอาดิ่งเอาแบบไม่ลืมหูลืมตา แม้หลายคนพยายามมองเป็นด้านบวกว่าการที่เฟดลดดอกเบี้ยลงมามากขนาดนั้นอาจจะไม่เสียของเปล่า เพราะเป็นหนึ่งในแนวทางที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อไปได้ ...แต่สำหรับดอลลาร์แล้ว การลดดอกเบี้ยถือเป็นข่าวร้าย เพราะอัตราดอกเบี้ยยิ่งต่ำ ดอลลาร์ยิ่งอ่อนค่า ยิ่งไม่น่าดึงดูดใจ และยิ่งบั่นทอน "ภาพลักษณ์" ของชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐ

* เปิดสาแหรกการคลัง-การค้าสหรัฐ ..หา Trigger Point ที่พาดอลลาร์ดิ่งลงเหว

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่า Trigger Point หรือภาวะที่ตลาดตื่นตระหนกและเทขายดอลลาร์มาจากทั้งปัจจัยทางจิตวิทยาและปัจจัยทางเศรษฐกิจที่มีการเมืองแอบแฝง ซึ่งปัจจัยใหญ่ๆก็คือการที่สหรัฐมีปัญหาการขาดดุลการค้าและการคลังที่สูงมาก สูงจนหลายฝ่ายกังวลใจว่าจะขาดดุลไปอีกนานเท่าใด ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมี "การทุบขายดอลลาร์แบบจงใจ" ในตลาดเงินเพื่อกดค่าดอลลาร์ให้ต่ำลงมาเพื่อช่วยพยุงการส่งออกและลดการนำเข้าของสหรัฐ

คริส คัพคีย์ หัวหน้านักวิเคราะห์จากแบงค์ ออฟ โตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ในนิวยอร์ก คาดว่า ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐน่าจะพุ่งแตะ 3.18 หมื่นล้านดอลลาร์เนื่องจากมียอดนำเข้าน้ำมันดิบและรถยนต์จากต่างประเทศสูงมาก ขณะที่ทางทำเนียบขาวก็ยอมรับว่ายอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลภายใต้การนำของบารัค โอบามา ในปีนี้จะมีอยู่ถึง 1.58 ล้านล้านดอลลาร์ ... ก็อาจเป็นไปได้ว่าขบวนการทุบขายดอลลาร์แบบจงใจเพื่อหนุนยอดส่งออกและลดการนำเข้าของสหรัฐ น่าจะมีจริง หากเป็นอย่างนั้นก็ต้องร้องเพลง ...ได้อย่าง ก็ต้องเสียอย่าง !!

ที่น่าสนใจก็คือเมื่อเกิดวิกฤตขึ้น เงินดอลลาร์กลับแข็งค่า เพราะทุกฝ่ายต้องการสภาพคล่อง จึงขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ทั่วโลกแล้วนำไปลงทุนในตลาดเงินสหรัฐ เงินที่ไหลเข้าทำให้ดอลลาร์แข็งขึ้น มาร์ค แซนด์ หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Moody`s Economy.com กล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะนักลงทุนมองว่าสกุลเงินดอลลาร์เป็นการลงทุนแบบ save heaven คือเมื่อเศรษฐกิจสัญญาณถึงความอ่อนแอ นักลงทุนก็จะเฮโลกันเข้าถือดอลลาร์เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยง

อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าจะเป็น Trigger Point ก็คือความเคลื่อนไหวเชิงจิตวิทยาของจีนและประเทศอื่นๆที่เป็นคู่ชิงบัลลังค์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจกับสหรัฐที่ต้องการกดดอลลาร์ให้จมดิน โดยเฉพาะจีนที่เล่นแรงถึงขั้นเรียกร้องทั่วโลกให้ใช้สกุลเงิน SDR เป็นค่ามาตรฐานในระบบสำรองเงินตราของโลกแทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อีกทั้งใช้วิทยายุทธ์ทุกกระบวนท่าหาช่องทางโจมตีนโยบายค่าเงินดอลลาร์อย่างไม่รู้จักเหนื่อย ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยข่าวผ่านสื่อว่า รัฐบาลจีนจะลดการถือครองสกุลเงินดอลลาร์และหันไปเพิ่มการถือครองเงินเยนและยูโรในระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ แต่ที่ทำเอาสหรัฐนั่งไม่ติดก็ตอนที่คุณอู๋ หย่งติง ที่มีดีกรีเป็นถึงผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองโลก ประจำสถาบันราชบัณฑิตสังคมศาสตร์ของจีน ลุกขึ้นเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐรับประกันพันธบัตรมูลค่า 6.82 แสนล้านดอลลาร์ที่จีนถือครองอยู่ เพราะไม่มั่นใจในความอ่อนแอของค่าเงินดอลลาร์ การที่จีนผลักดันให้คุณอู๋ออกหน้าในครั้งนี้เพื่อส่งสัญญาณไปถึงสหรัฐว่า พันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐมูลค่าสูงถึง 6.82 แสนล้านดอลลาร์ในมือของจีนนั้น เป็น "ไพ่ใบใหญ่" ที่จีนพร้อมจะใช้ไว้ต่อกรกับสหรัฐได้ทุกเมื่อ

เจอศึกสะท้านยุทธภพในจีนก็นับว่าหนักหนาแล้ว แต่สหรัฐยังต้องมาเผชิญกับคอลัมน์ “The Demise Of The Dollar" หรือ “จุดจบของดอลลาร์" บนหน้าหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษว่า กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับเริ่มเจรจาร่วมกับจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อยุติการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายน้ำมัน และจะเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินอื่นในตระกร้าเงิน รวมถึง สกุลเงินเยน หยวน และยูโร ...แม้ทางการซาอุดิอาระเบียและญี่ปุ่นออกมาปฏิเสธข่าวดังกล่าวในเวลาต่อมา แต่ก็สายไป เพราะตลาดได้ซึมซับข่าวดังกล่าวไว้อย่างรวดเร็วและดอลลาร์ถูกก็กระหน่ำขายอย่างหนัก

จะว่าไปแล้ว เมื่อครั้งที่จีนลุยเดี่ยวโดดขึ้นเวที G20 เรียกร้องให้ทั่วโลกใช้สกุลเงิน SDR แทนดอลลาร์นั้น ตอนแรกก็ไม่มีใครกล้าเอาด้วย แต่เมื่อสกุลเงินดอลลาร์ไม่ยอมส่งสัญญาณการฟื้นตัวจนนาวาเศรษฐกิจโลกเริ่มลอยลำเข้าสู่ช่วงครึ่งหลังของปี 2009 ไอเอ็มเอฟก็เริ่มจะเสียงอ่อนและพูดเป็นนัยว่าสกุลเงิน SDR น่าจะเป็นทางออกที่ดีหากดอลลาร์ยังอ่อนค่าต่อไป... แต่ที่เซอร์ไพรส์สุดๆก็เมื่อนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ แย้มว่า เขาเปิดกว้างต่อการใช้สกุลเงิน SDR ซึ่งข่าวดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนกระหน่ำขายดอลลาร์อย่างหนักในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เพราะการ "พลั้งปาก" ของขุนคลังสหรัฐครั้งนี้เท่ากับการันตีความอ่อนแอของดอลลาร์ด้วยตัวเอง !!

* จับตากระแส US Dollar Carry Trade ... ยุทธศาสตร์การพลิกเหรียญอีกด้านให้เป็นเครื่องมือ

นับตั้งแต่ต้นปี 2552 กระแสการทำธุรกรรม US Dollar Carry Trade หรือการกู้ยืมเงินในรูปสกุลดอลลาร์ไปลงทุนในสินทรัพย์สกุลอื่นๆที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า มาแรงจนทำให้หลายฝ่ายจับตามอง โดยไอเอ็มเอฟกล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ของสหรัฐกำลังทำให้เกิดกระแสการระดมทุนทั่วโลกในรูปของการทำ US Dollar Carry Trade ซึ่งที่น่าจับตาดูมากที่สุดคงไม่พ้นการที่นักลงทุนทำ Carry Trade สกุลเงินดอลลาร์แล้วหันไปซื้อสกุลเงินในตลาดเอเชีย อันเป็นผลทำให้เงินเอเชียแข็งค่าขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ และเป็นผลทำให้ผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ธนาคารกลางในเอเชีย เกิดความกังวล และพร้อมที่จะเทขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งจะยิ่งทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และนำไปสู่กระแสเก็งกำไรอย่างต่อเนื่อง

ศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์กกล่าวว่า นักลงทุนกำลังกอบโกยผลประโยชน์จากสกุลเงินดอลลาร์ผ่านการทำ Carry Trade อย่างคึกคัก แต่การลงทุนในลักษณะนี้อาจทำให้ปัจจัยพื้นฐานตลาดปริวรรตเงินตราถูกบิดเบือนไป

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางท่านตั้งข้อสังเกตว่า มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐ "ตั้งใจ" ปล่อยให้ดอลลาร์อ่อนตัวและไม่คิดที่จะยับยั้งเพื่อหวังผลด้านการส่งออก ซึ่งความตั้งใจเช่นนี้รวมถึงการที่เฟดระดมซื้อตราสารที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยรองรับ (MBS) อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของเฟดตบเท้ากันออกมาส่งสัญญาณเป็นระลอกว่า เฟดจะตรึงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน การดำเนินการดังกล่าวทำให้สภาพคล่องในระบบของสหรัฐหนาแน่นขึ้นก็จริง แต่ก็กดดันค่าเงินสหรัฐให้อ่อนแอด้วย

... มิทัล โกเตชา หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านปริวรรตเงินตราจากธนาคารคาลิยงในฮ่องกงกล่าวว่า เมื่อก่อนนี้หากต้องการรู้ว่าโลกจะไปในทิศทางใด ให้ดูจุดยืนของสหรัฐ หนึ่งในเหตุผลก็เพราะดอลลาร์ (เคย) เป็นสกุลเงินที่ยิ่งใหญ่ หนุนภาพลักษณ์ชาวอเมริกันให้ดูดีมีไลฟ์สไตล์เหนือประเทศอื่นๆ แต่เมื่อวัดชีพจรดอลลาร์ในปัจจุบันและส่องกล้องดูแนวโน้มในอนาคตแล้ว...หลายคนไม่กล้าคอนเฟิร์มว่าสหรัฐจะยืนยงเป็นผู้กำหนดทิศทางโลกอีกต่อไปหรือไม่ !!


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ