(เพิ่มเติม) ม.หอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ต.ค.52 อยู่ที่ 68.0

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 12, 2009 15:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคประจำเดือน ต.ค.52 อยู่ที่ 68.0 ลดลงจากเดือน ก.ย.ที่อยู่ในระดับ 68.4

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 66.9 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 91.2

"ดัชนีรายได้ในอนาคตดีขึ้นเป็นเดือน 5 แต่ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโดยรวมกับโอกาสในการหางานทำลดลงครั้งแรกในรอบ 5 เดือน" นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจฯ กล่าว

ปัจจัยลบในการสำรวจครั้งนี้ มาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ผู้บริโภคกังวลเสถียรภาพทางการเมือง ศาลปกครองสั่งระงับโครงการลงทุน 76 โครงการในมาบตาพุด การส่งออกยังคงหดตัว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง รวมทั้ง ราคาสินค้าและค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น

ส่วนปัจจัยบวก ได้แก่ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับคาดการณ์จีดีพีของไทยในปีนี้ดีขึ้นเป็นติดลบ 2.5-3.5% คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)คงอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี และ เงินบาทแข็งค่า

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า การลดลงของดัชนี ต.ค. ครั้งแรกรอบ 5 เดือน ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะมีปัจจัยด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ที่เคลื่อนไหวสวนทางอย่างหลากหลายและขัดแย้ง ทั้งปัญหาราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ มาบตาพุด และการเมือง จนทำให้ภาพความเชื่อมั่นในปัจจุบัน ความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวม และการจ้างงานลดลง รวมถึงความเชื่อมั่นในอนาคตก็มีอัตราเพิ่มที่ชะลอตัว แต่แนวโน้มการซื้อรถยนต์ ท่องเที่ยว และการลงทุนเริ่มฟื้นขึ้น เพราะมีโปรโมชั่น ดึงดูดใจ เว้นแต่การซื้อบ้านที่ยังไม่ดีนัก

อย่างไรก็ตาม แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 4 จะอยู่ช่วงขาขึ้น แต่คาดว่าการใช้จ่ายจะไม่คึกคักจนถึงเทศกาลปีใหม่ เพราะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวยังรับรู้เฉพาะในกลุ่มเศรษฐกิจมหภาค หรือธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น ประกอบกับ เงินกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรก 20,000 ล้านบาทยังไม่กระจายลงสู่ชุมชน จึงทำให้ประชาชนยังไม่รับรู้ถึงการฟื้นตัว และไม่มั่นใจว่าจะมีการจ้างงาน หรือมีรายได้เพิ่ม ดังนั้นผู้ผลิตสินค้า จะต้องแข่งขันจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง และห้ามขึ้นราคาสินค้า ไม่เช่นนั้นอาจกระทบต่อยอดขาย

นายธนวรรธน์ กล่าวถึงดัชนีผู้บริโภคเดือน พ.ย.ว่า ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญ และเป็นตัวชี้วัดว่า ดัชนีในอนาคตจะเป็นอย่างไร เพราะมีปัจจัยสำคัญหลายเรื่องที่จะกระทบ ทั้งการแก้ปัญหาโครงการลงทุนในมาบตาพุด จากคณะกรรมการแก้ปัญหา 4 ฝ่าย ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน รวมถึงปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชาที่จะส่งผลต่อการดัชนีความเชื่อมั่นอย่างชัดเจน และการแก้ปัญหาราคาน้ำมัน การเมือง รวมถึงการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะได้ผลเพียงใด

ส่วนปัญหาความขัดแย้งไทย-กัมพูชานั้น หากยังไม่มีการปิดด่าน เชื่อว่าการค้าตามแนวชายแดนยังดำเนินได้ปกติ และไม่น่าจะได้รับผลกระทบ ส่วนการกักตุนซื้อสินค้าตามชายแดน การลดระยะเวลาการให้เครดิตในการซื้อขายสินค้า และการใช้เงินสดซื้อขายสินค้านั้น น่าจะส่งผลในช่วงสั้นเท่านั้น

ขณะที่การลงทุนไม่น่าจะมีผลกระทบ เพราะการลงทุนของคนไทยในกัมพูชาส่วนใหญ่ เป็นภาคบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจกัมพูชา จึงเชื่อว่ากัมพูชาจะยังคงอำนวยความสะดวกให้นักลงทุนไทยเหมือนเดิมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ