ประชาพิจารณ์ 3Gรอบ 2 ทรูเปิดประเด็นขอจ่ายเงินหลัง 2 ปี-ใช้โครงข่ายร่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 12, 2009 18:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ภาคเอกชนยังมีข้อเสนอที่หลากหลายในประชาพิจารณ์ 3G รอบ 2 ค่ายทรูฯ ยังจี้ไม่เลิกประเด็นต่างชาติแนะ 2 ค่ายยักษ์กางโครงสร้างผู้ถือหุ้นแสดงให้ชัด พร้อมเปิดข้อเสนอใหม่เร่งกระจายจุดให้บริการเร็วขึ้น แต่ขอจ่ายค่าใบอนุญาตหลังขยาย 90% ใน 2 ปี และขอสิทธิใช้โครงข่ายเดิมร่วมด้วย รวมทั้งห้าม กทช.ขยับราคาเองถ้าผู้เข้าประมูลไม่ได้เสนอสูงขึ้นจากราคาเริ่มต้น ขณะที่ค่ายดีแทค-เอไอเอสไม่เห็นด้วยหากจะบังคับการใช้โครงข่ายร่วมกัน และขอให้แยกเรื่องแปรสัญญาสัมปทานเดิม

นายอธึก อัศวานนท์ รองประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น(TRUE) กล่าวในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างสรุปข้อสนเทศการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G & beyond โดยเสนอให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.)กำหนดให้มีการจ่ายค่าใบอนุญาตหลังกระจายจุดให้บริการ(row out)ระบบ 3G ได้ 90% ภายใน 2 ปี ซึ่งเร็วขึ้นจากเดิมที่กำหนดให้ row out ครบ 50% ใน 2 ปี

แต่การกำหนดดังกล่าวจะต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ กทช.จะต้องกำหนดให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต 3G สามารถใช้โครงข่ายเดิมร่วมกันได้ เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้ไม่ต้องมีภาระในการหาพื้นที่ติดตั้งเสาสัญญาณใหม่ และต้องกำหนดให้เงื่อนไขดังกล่าวมีผลภายใน 6 เดือนนังจากวันที่ได้รับใบอนุญาต

"เราต้องการเสนอให้จ่ายค่าประมูลกับ กทช.หลังจาก row out ได้แล้ว 90% ภายใน 2 ปี เพราะอย่างไร เราก็ไม่หนีไปไหน และต้องใช้เงินสูงในการลงทุน 3G"นายอธึก กล่าว

พร้อมกันนั้น ยังเสนอให้ กทช.กำหนดให้สิทธิผู้ได้รับใบอนุญาต 3G ในการผ่านทางสาธารณะ เช่น การลากสายสัญญาณต่าง ๆ เพื่อให้ดำเนินการให้บริการได้เร็วขึ้น โดยให้มีผลภายใน 14 วัน นับจากวันได้รับอนุญาต

นายอธึก กล่าวว่า สำหรับความกังวลผลกระทบด้านความมั่นคง โดยเฉพาะจากบริษัทผู้เข้าร่วมประมูลที่มีสัดส่วนผู้ถือหุ้นเป็นบริษัทต่างชาติ ซึ่งขณะนี้ผู้ให้บริการรายเดิมมีบริษัทหนึ่งมีรัฐวิสาหกิจสิงคโปร์ถือหุ้น และอีกรายหนึ่งมีรัฐวิสาหกิจนอร์เวย์ถือหุ้นอยู่ บริษัทเหล่านี้ควรเปิดเผยการถือหุ้นอย่างตรงไปตรงมา ไม่ควรถือผ่านตัวแทน(นอมินี)

ทั้งนี้ ได้เสนอทางออกให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น(DTAC )ลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นต่างชาติให้น้อยลงกว่าผู้ถือหุ้นไทย และหุ้นส่วนเกินควรโยกไปถือผ่านกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าว เพื่อจำกัดสิทธิในการบริหาร หรือการโหวต เพราะ TRUE มีรัฐวิสาหกิจเยอรมันถือหุ้นเพียง 4% ที่เหลือเป็นโดยกองทุนรวมเพื่อผู้ลงทุนต่างด้าวเช่นกัน

"เพื่อลดความกังวลด้านความมั่นคง อยากเสนอให้รัฐวิสาหกิจสิงคโปร์ และนอร์เวย์ เข้ามาถือหุ้นอย่างสง่างาม เปิดเผย ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆ"นายอธึก กล่าว

นายนพปฎล เดชอุดม ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารด้านการเงิน TRUE เสนอให้กทช.เปิดประมูลใบอนุญาตในขนาดเท่า ๆ กัน เพื่อป้องกันการปั่นราคา และขอให้กำหนดเกณฑ์การประมูลว่าหากไม่มีผู้เสนอราคาสูงกว่าราคาเริ่มต้น กทช.ก็ควรจะยอมรับและต้องไม่ปรับราคาขึ้นเอง

ด้านนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร DTAC กล่าวถึงความกังวลเรื่องการโอนย้านฐานลูกค้า 2G ไปยังระบบ 3G ว่า กทช.ควรกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าห้ามผู้ได้รับใบอนุญาต 3G บังคับโอนย้ายลูกค้า เพราะในแง่การตลาดผู้ประกอบการสามารถหากลยุทธจูงใจให้ลูกค้า 2G ย้ายมาใช้ระบบ 3G ได้

ส่วนการแปรสัญญาสัมปทาน ควรจะกำหนดให้เป็นคนละเรื่องกับการให้ใบอนุญาต 3G และเห็นว่าในทางปฏิบัติไม่สามารถดำเนินการแปรสัญญาสัมปทานได้ โดยเรื่องนี้ได้มีการศึกษา เสนอแนะ ทำความเข้าใจมาหลายปีแล้ว แต่บริษัทพร้อมหารือกับ บมจ.กสท.โทรคมนาคม ในเรื่องดังกล่าว

นายธนา กล่าวว่า การที่มีการเสนอ row out 90% ภายใน 2 ปี โดยใช้โครงข่ายร่วมกันนั้น กทช.คงไม่สามารถบังคับให้เอกชนใช้โครงข่ายในลักษณะใดได้

ด้านนายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ADVANC กล่าวว่า การที่มีผู้ถือหุ้นต่างชาติไม่ได้เป็นประเด็นปัญหา เพราะการดำเนินงานหรือผลประกอบการไม่ได้มาจากความสามารถของผู้ถือหุ้นต่างชาติ ถ้าหากจะพูดเรื่องความมั่นคง ควรจะระบุให้ชัดเจนไม่ควรจะทำให้คลุมเครือ

"ผลประกอบการไม่ได้มาจากผู้ถือหุ้น บริษัทจะมีผู้ถือหุ้นใครก็ได้ อาจจะเป็นเขมรเข้ามาถือหุ้นเราก็ได้ ซึ่งก็ต้องอภัย ณ ที่นี้ที่เราไม่สามารถทำได้ตามที่ท่านเสนอ"นายวิเชียร กล่าว

กรณีที่มีการเสนอให้ กทช.บังคับให้เอกชนใช้ทรัพย์สินหรือโครงข่ายร่วมกัน เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ขอให้การใช้โครงข่ายเป็นไปตามธรรมชาชติ ไม่ควรบีบบังคับ

นอกจากนี้ กทช.หรือภาครัฐก็ยังไม่ได้มีทางออกว่าหลังจากผู้ประกอบการรายเดิมหมดสัญญาสัมปทานเดิมแล้วจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ADVANC จะหมดอายุสัมปทานเดิมในปี 58 ยังไม่รู้ว่าโอกาสที่จะได้ทำต่อจะมีหรือไม่ หากไม่มีเปิดประมูล 3G

"ณ วันนี้ ทรัพย์สินอยู่ที่ทีโอที ความถี่อยู่ที่ กทช.ลูกค้าอยู่ที่เรา ผมว่ามันจะดูไม่จืดเลย อย่างไรเราก็อยากให้ช่วยกันหาทางออกเรื่องนี้ เพื่อที่จะได้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้"นายวิเชียร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ