"อภิสิทธิ์"เตรียมหารือ"โอบามา"ระหว่างร่วมประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐ 15 พ.ย.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 13, 2009 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประธานอาเซียนจะเป็นประธานประชุมผู้นำอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 1 ในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ที่ประเทศสิงคโปร์ โดยจะมีการหารือกับนายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐ และหลังการประชุมจะมีการออกแถลงการณ์ร่วมเรื่องความเป็นหุ้นส่วนที่เพิ่มพูนเพื่อความสันติภาพและความมั่นคั่งอันยั่งยืน

สาระสำคัญที่ทั้ง 2 ฝ่ายจะมีการหารือและตกลงกันในเวทีนี้ นอกจากจะร่วมกันจัดประชุมอาเซียน-สหรัฐ ครั้งที่ 2 ในปี 2010 แล้ว จะมีการเรียกร้องให้ประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้นำในการยกร่างแผนปฏิบัติการอาเซียน-สหรัฐในอีก 5 ปีข้างหน้าและยังจะเป็นประเทศผู้ประสานงานกับทั้ง 2 ฝ่าย

ส่วนวาระการประชุม สหรัฐพร้อมที่จะสนับสนุนการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปี 2015 และการจัดตั้งกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิด้านความสัมพันธ์อาเซียน-สหรัฐ เพื่อสนับสนุนความร่วมมือ 2 ฝ่าย ขณะที่จะมีแผนในการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการปฏิสัมพันธ์กันของประชาชน เช่น เพิ่มโอกาสในการเรียนภาษาอังกฤษ การศึกษาต่อในสหรัฐฯและประเทศในอาเซียน รวมทั้งการสร้างความเข้าใจในศาสนา และสหรัฐฯสนใจจะเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียน จะมีการแต่งตั้งเอกอัครราชทูตกิจการอาเซียน และเป็นคณะทูตถาวรอาเซียนที่ประเทศอินโดนีเซีย

ขณะที่การจัดตั้งคณะกรรมการธิการว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชนอาเซียน สหรัฐฯจะสนับสนุนและเชิญชวนคณะกรรมาธิการชุดนี้เดินทางไปเยือนสหรัฐในปี 2010 เพื่อปรึกษาหารือกับผู้เชี่ยวชาญของสหรัฐฯ ซึ่งในอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์ทรัพยากรด้านสิทธิมนุษยชนขึ้น โดยมีสถาบันการศึกษาประเทศอินโดนีเซียดำเนินการร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างทั่วอาเซียน ส่วนสถานการณ์อื่นๆ เช่น การเลือกตั้งในพม่า สหรัฐและอาเซียนจะสรุปบทบาทหลังจากที่ตัวแทนของสหรัฐฯได้เยือนพม่าเมื่อเร็วๆนี้

ด้านเศรษฐกิจ สหรัฐสนับสนุนที่จะให้ประธานอาเซียนเข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมสุดยอด จี 20 อย่างต่อเนื่องเพื่อนำนโยบายตามหลักการที่ จี 20 ได้กำหนดไว้มาปรับใช้ หลังพบว่าการค้าและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ มีการลงทุนสูงถึง 178,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2008 และตัวเลขการลงทุนโดยตรงของสหรัฐฯในอาเซียนอยู่ที่ 153,000 ล้านดอลลาร์ และยังยืนยันว่า อาเซียนเป็นแหล่งลงทุนระดับต้นๆของสหรัฐ

ขณะที่การหารือภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าและการลงทุน (เอฟทีเอ) อาเซียน-สหรัฐก็จะมีการหยิบยกมาหารือช่นกัน ซึ่งขณะนี้การรวมตัวนโยบายด้านการค้าและการลงทุนที่มากขึ้นจากกรอบเขตเศรษฐกิจเอเปค และการเข้ามามีสวนร่วมของรัฐสมาชิกนอกเอเปค เช่น กัมพูชา ลาว ก็จะนำมาเป็นข้อหารือเช่นกัน

นอกจากนั้นยังจะมีข้อตกลงกันการร่วมมือในปฏิญญาในการขจัดการก่อการร้ายระหว่างประเทศระหว่างอาเซียนกับสหรัฐ การลดช่องว่างในการพัฒนาอาเซียน แนวคิดริเริ่มความร่วมมือสหรัฐ-ลุ่มแม่น้ำโขงตอนใต้ ที่จะมีการจัดประชุมประจำทุกปี การไม่แพร่ขยายนิวเคลียร์และการลดอาวุธ หรือจัดตั้งเขตปลอดนิวเคลียร์ในภูมิภาคอาเซียน การเรียกร้องให้เกาหลีเหนือกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจา 6 ฝ่าย การบรรจุอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะมีการหารือในเร็วๆนี้ จะบรรจุเป็นแผนระยะยาวของสหรัฐ-อาเซียน ในส่วนของงานวิจัยต่างๆ

การหารือร่วมกันของสองฝ่าย อาจจะเห็นพ้องแต่งตั้งคณะทำงานภาครัฐ เอกชนเพื่อนำเสนอแนะด้านนโยบายในการพัฒนาพลังงานสะอาด ขณะที่ความร่วมมือความมั่นคงด้านอาหาร จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร ส่วนด้านสาธารณสุข เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจะได้รับมอบหมายให้พัฒนาและจัดเก็บรักษายาต่อต้านไวรัส ยาเวชภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ 2009และโรคระบาดอื่น ๆ และการแต่งตั้งคณะทำงานภาครัฐเอกชน เพื่อนำเสนอการพัฒนาแนวคิดใหม่ด้านสาธารณสุขของทั้ง 2 ฝ่าย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ