ฮ่องกงหวั่นนโยบายตรึงดอกเบี้ยในระดับต่ำของเฟดอาจจุดชนวนวิกฤตระลอกใหม่

ข่าวต่างประเทศ Friday November 13, 2009 17:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

โดนัลด์ ซัง ประธานเขตปกครองพิเศษฮ่องกงแสดงความเห็นว่า นโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ระดับ 0-0.25% กำลังจุดกระแสการเก็งกำไรที่อาจเป็นชนวนเหตุของวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งต่อไป

โดนัลด์ ซังกล่าวในระหว่างการเตรียมเข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ที่สิงคโปร์ว่า "ผมเกรงว่าจะเกิดวิกฤตระลอกใหม่ ดังนั้นผู้นำประเทศควรระมัดระวังและจับตาดูสถานการณ์ต่างอย่างใกล้ชิด เพราะสหรัฐกำลังทำในสิ่งที่ญี่ปุ่นเคยทำไว้ในอดีต" โดยในซังได้อ้างถึงกรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ใช้นโยบายตรึงดอกเบี้ยจนก่อให้เกิดวิกฤตการเงินในเอเชียและเกิดภาวะล่มสลายในตลาดปล่อยกู้จำนองของสหรัฐอเมริกา

นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานเฟดได้ดำเนินการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ พร้อมยืนยันว่าจะไม่ดำเนินมาตรการที่ผิดพลาดดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นในปี 1930 ขณะที่โดนัลด์ ซัง เตือนกลุ่มประเทศจี-20 ให้ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

"ปัญหาครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นกับประเทศที่มีเม็ดเงินหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งนั่นก็คือประเทศในแถบเอเชีย โดยเฉพาะเกาหลี ใต้หวัน สิงคโปร์ และฮ่องกง ซึ่งเม็ดเงินไหลเข้าอาจไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ" ซังระบุ

โดนัลด์ ซัง ได้ร่วมงานกับรัฐบาลฮ่องกงในระหว่างที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อปี 2540-2541 ซึ่งเป็นช่วงที่หลายประเทศในเอเชียเผชิญแรงกดดันให้ต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เพราะนักลงทุนปลีกตัวออกจากตลาด ท่ามกลางความกังวลว่า รัฐบาลจะไม่สามารถรักษามูลค่าสกุลเงินในประเทศได้ โดยรัฐบาลได้ยื่นมือเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการซื้อหุ้นในตลาดฮ่องกง 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อคุ้มครองมูลค่าของอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินที่ผูกติดกับเงินดอลลาร์สหรัฐ

ทั้งนี้ สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง 14% นับตั้งแต่ต้นเดือนมี.ค. เพราะได้รับผลกระทบจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ทำให้นักลงทุนลดความต้องการถือครองสินทรัพย์ที่ปลอดความเสี่ยงและหันมาทำธุรกรรม carry trade ด้วยการกู้ยืมเงินดอลลาร์ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้อัตราผลตอบแทนสูง และคาดว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยใกล้ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ต่อไปในปี 2553


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ