เจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินของจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของเอเชีย เตือนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของเฟดกำลังส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในรูปการทำอาร์บิทราจสกุลเงินดอลลาร์ (หรือการหากำไรจากการซื้อขายในเวลาเดียวกัน แต่ต่างตลาดกัน) และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อด้านสินทรัพย์ ซึ่งผลที่ตามมาคือการขัดขวางกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) กล่าวในที่ประชุม Paris Europlace Financial Forum ที่กรุงโตเกียวในวันนี้ว่า กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะฟองสบู่แตกและเกิดความผันผวนในตลาดการเงินอีกครั้ง
ขณะที่นายหลิว หมิงกัง ผู้อำนวยการฝ่ายกำหนดนโยบายด้านการธนาคารของจีนกล่าวว่า สกุลเงินดอลลาร์ที่อ่อนแอและอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำของสหรัฐส่งผลให้ราคาหุ้นและราคาอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐพุ่งขึ้น ซึ่งทำให้กระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ อีกทั้งจะทำให้ให้ระบบเศรษฐกิจโลกตกอยู่ในความเสี่ยงจนยากที่จะแก้ไขได้
"ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่องและการที่เฟดให้คำมั่นสัญญาว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่งเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นในภาคสาธารณะนั้น เป็นการส่งสัญญาณว่าอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในสหรัฐจะอยู่ที่ระดับต่ำไปอีก 12-18 เดือน ซึ่งจะนำไปสู่การเก็งกำไรในรูปการทำอาร์บิทราจสกุลเงินดอลลาร์" นายหลิวกล่าว
ด้านนายชิรากาว่าแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจะช่วยให้ภาระหนี้สินของชาวอเมกันเบาลง แต่การคงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไว้นานๆจะส่งผลให้เกิดการเก็งกำไร และการคงดอกเบี้ยที่ระดับต่ำจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะยาว
"ที่ผ่านมานโยบายการเงินแบบผ่อนปรนในกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจส่งผลให้มีเงินทุนไหลเข้าสู่กลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จำนวนมาก สิ่งที่น่ากังวลก็คือหากเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขยายตัวรวดเร็วกว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่างต่อเนื่อง ผลที่ตามมาคือความผันผวนในตลาดการเงิน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกระลอกในที่สุด" ชิรากาว่ากล่าว
นอกจากนี้ นายจ้าว ชิงหมิง นักวิเคราะห์จากธนาคารไชน่า คอนสตรั๊คชั่น แบงค์ คอร์ป กล่าวว่า อัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำในสหรัฐส่งผลให้เกิดการทำ carry trade ระหว่างสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐและดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งการทำธุรกรรมเช่นนี้จะยิ่งทำให้ดอลลาร์สหรัฐร่วงลงอีกและทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์พุ่งขึ้นอย่างรุนแรง