นายกฯเชื่อรัฐเดินถูกทาง 1 ปีเน้นศก.โตยั่งยืน-เอกชนห่วงใช้งบไทยเข้มแข็ง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 16, 2009 18:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"อนาคตไทย ภายใต้เศรษฐกิจ ไทยเข้มแข็ง"ว่า ในช่วงเกือบ 1 ปีของการทำหน้าที่รัฐบาล เชื่อว่าการดำเนินนโยบายต่างๆ ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่การฟื้นตัวแล้ว และถือว่ารัฐบาลได้วางนโยบายมาถูกทางพอควร โดยไม่ใช่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น แต่ได้วางแนวทางเพื่อให้การเติบโตเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลไม่เพียงทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ในอัตราที่สูง แต่จะเป็นมาตรการเพื่อเป็นหลักประกันว่าเศรษฐกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นธรรม กระจายอย่างทั่วถึงคนไทยทุกคน ซึ่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะต้องขึ้นอยู่กับภาคเอกชน ที่จะต้องมีการปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่รัฐบาลพร้อมจะเป็นหุ้นส่วนของภาคเอกชนเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มั่นคงแข็งแกร่ง

สำหรับโครงการลงทุนตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง รัฐบาลต้องการเห็นประสิทธิภาพของการใช้เงินงบประมาณมากที่สุด และสามารถตอบสนองการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ขณะเดียวกัน รัฐบาลพยายามคลี่คลายปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทั้งระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ปัญหาการทุจริต เช่น กระทรวงสาธารณสุข ที่ได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมีบุคคลภายนอกเข้าร่วมตรวจสอบด้วย

ขณะที่การระงับ 76 โครงการลงทุนในนิมคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดนั้น รัฐบาลได้วางแนวทางแก้ปัญหาแล้ว และมีการชี้แจงต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้เห็นถึงความตั้งใจของรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาครัฐ ยังไม่เพียงพอในการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต แต่จะต้องมีการปรับปรุงแผนเพื่อเตรียมรองรับการพัฒนาประเทศในอนาคต รัฐบาลจึงได้มีการอนุมัติแผนการพัฒนาตลาดทุน ตลาดเงิน และการอนุมัติแผนการเข้าร่วมลงทุนของภาคเอกชนในนโยบายของรัฐบาลอีกด้วย

ด้านนายสันติ วิลาศศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)กล่าวว่า โครงการลงทุนไทยเข้มแข็งวงเงินรวม 1.43 ล้านล้านบาทนั้น ในปี 53 จะมีเม็ดเงินลงทุนออกมาราว 1.06 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่สูงมาก หากมีการเบิกจ่ายเงินได้ 60-70% เชื่อว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ทั้งภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และภาคประชาชน

แต่ภาคเอกชนยังมีความป็นห่วงในกรณีที่คนในรัฐบาลต่างต้องการที่จะใช้เงินส่วนนี้ ดังนั้น จึงต้องการให้ทุกฝ่ายช่วยสอดส่องดูแลการใช้เงินให้เกิดประสิทธิภาพเต็มเม็ดเต็มหน่วย

"โครงการนี้เชื่อว่าแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็ไม่น่าจะล้มโครงการ เพราะเชื่อว่าทุกคนก็อยากทำด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านเองก็ตาม"นายสันติ กล่าว

ด้านนายดุสิต นนทะนาคร ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เห็นความเห็นที่สอดคล้องกันว่า ต้องการให้เกิดความโปร่งใส ชัดเจนในการใช้เงินงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง โดยเป้าหมายของโครงการลงทุนเพื่อพัฒนาประเทศเป็นสิ่งที่ดี ดังนั้น ทุกฝ่ายจะต้องช่วยดูแลการใช้เงินงบประมาณ

อย่างไรก็ตาม นักธุรกิจไม่ต้องการให้มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย เพราะทั้งนักธุรกิจและประชาชนจะเดือดร้อน แต่นักการเมืองจะมีความสุข เพราะนักลงทุนต่างชาติจะมองเรื่องความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบาย ดังนั้น เมื่อเห็นว่ารัฐบาลมีความตั้งใจทำงานก็ควรที่จะให้กำลังใจ โดยปัญหาความขัดแย้งควรจะยุติชั่วคราวเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติ

"วิกฤติครั้งนี้มีมาก หากยังขัดแย้งกันอยู่ ก็แก้ปัญหาประเทศชาติไม่ได้ อะไรที่น่าเป็นห่วง ไม่โปร่งใส ก็ต้องกระตุ้น ช่วยกันดู อะไรที่ดีอยู่แล้วก็ช่วยกันสนับสนุน...ตราบใดที่โปร่งใส ชัดเจน ก็เป็นสิ่งดี อย่าคิดมากว่าใครเป็นรัฐบาล จะยิ่งเป็นปัญหามากกว่า"นายดุสิต กล่าว

นอกจากนี้ หอการค้าไทยเตรียมประชุมประจำปี ในวันที่ 27-29 พ.ย.นี้ เพื่อวางแผนยุทธศาสตร์ชาติ ใน 7 ธุรกิจหลัก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ภาคเอกชนไทยมีความชำนาญ โดยจะมีการประสานข้อมูลการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนธุรกิจเป็นยุทธศาสตร์ชาติ กระจายสู่ภูมิภาค และนำไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นวางแผนของภาคเอกชน มีการวางแผนให้สอดคล้องกับโครงการภาครัฐ และทำงานอย่างบูรณาการมากขึ้น

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า โครงการลงทุนไทยเข้มแข็ วงเงิน 1.4 ล้านล้านบาท ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการในระบบ Logistic มากที่สุด รองลงมาเป็นการพัฒนาระบบน้ำ พลังงาน การศึกษาและสาธารณสุข ซึ่งโครงการเหล่านี้ 87.7% จะอยู่ในภาคการก่อสร้าง ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างจะได้ประโยชน์มากที่สุด

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เงินลงทุนส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ และการชำระหนี้มาจากการคาดการณ์รายได้ในอนาคต ซึ่งหากเศรษฐกิจไทยไม่สามารถขยายตัวในอัตรา 3-5% ตามคาดการณ์ไว้ เม็ดเงินที่จะนำมาชำระหนี้เงินกู้อาจเกิดปัญหา และอาจนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายเพื่อให้รัฐบาลมีการกู้เงินเพิ่มอีกได้ ซึ่งถือเป็นปัจจัยเสี่ยง

นอกจากนี้ การลงทุนจะต้องทำให้เกิดผลจริงอย่างเป็นรูปธรรมตามแผน จะต้องมีการผลักดันให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง โดยทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อให้โครงการเดินหน้าได้

"โดยทั่วไปการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไม่ค่อยมีทางเลือก ดังนั้นการลงทุนภาครัฐและการลงทุนเพื่ออนาคต จึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นไม่ว่าฝ่ายไหนได้เป็นรัฐบาล เห็นว่าโครงการจะต้องคงอยู่" นายอภิศักดิ์ กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ