ภาวะตลาดเงินนิวยอร์ก: ดอลล์พุ่งแรง หลัง FED-IMF-ECB โดดหนุนนโยบายดอลล์แข็งค่า

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 18, 2009 07:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐดีดตัวขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลักๆของโลก ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กเมื่อคืนนี้ (17 พ.ย.) หลังจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และนายฌอง-คล้อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ร่วมสนับสนุนนโยบายดอลลาร์แข็งค่าเช่นเดียวกันนายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.69% เมื่อเทียบกับสกุลเงินยูโรที่ 1.4867 ยูโร/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.4971 ยูโร/ดอลลาร์ และดีดตัวขึ้น 0.19% เมื่อเทียบกับเงินเยนที่ 89.280 เยน/ดอลลาร์ จากระดับ 89.110 เยน/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐพุ่งขึ้น 0.92% เมื่อเทียบกับฟรังค์สวิสที่ 1.0165 ฟรังค์/ดอลลาร์ จากระดับของวันจันทร์ที่ 1.0072 ฟรังค์/ดอลลาร์ และขยับขึ้น 0.09% เมื่อเทียบกับเงินปอนด์ที่ 1.6811 ปอนด์/ดอลลาร์ จากระดับ 1.6826 ปอนด์/ดอลลาร์

นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียร่วงลง 0.67% แตะที่ 0.9307 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย จากระดับของวันจันทร์ที่ 0.9370 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์ออสเตรเลีย และค่าเงินดอลลาร์นิวซีแลนด์ดิ่งลง 0.40% แตะที่ 0.7453 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์ จากระดับ 0.7483 ดอลลาร์สหรัฐ/ดอลลาร์นิวซีแลนด์

วิน ธิน นักวิเคราะห์จากบริษัท Brown Brothers Harriman ในนิวยอร์กกล่าวกับเอพีว่า ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นทันทีหลังจากเบอร์นันเก้กล่าวปาฐกถาในที่ประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งนิวยอร์กว่า เฟดจะติดตามดูสถานการณ์ค่าเงินดอลลาร์ที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่องในเวลานี้ นอกจากนี้ เฟดมีแนวโน้มที่จะดำเนินการบางอย่างเพื่อปรับมูลค่าของสกุลเงินดอลลาร์

ขณะที่นายโดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า เขายังคงสนับสนุนสกุลเงินดอลลาร์ให้เป็นสกุลเงินหลักในระบบทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของโลก และนายทริเชต์ ประธานอีซีบียืนยันว่าเขาสนับสนุนนโยบายดอลลาร์แข็งค่า

นอกจากนี้ ดอลลาร์สหรัฐยังได้รับแรงหนุนหลังจากสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ในเดือนต.ค.ซึ่งน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะพุ่งขึ้น 0.5% ส่วนดัชนี PPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานลดลงเกินคาด 0.6% ในเดือนต.ค.ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ค.2548

นายมาซาอากิ ชิรากาว่า ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) และนายหลิว หมิงกัง ผู้อำนวยการฝ่ายกำหนดนโยบายด้านการธนาคารของจีน มีความเห็นที่สอดคล้องกันว่า นโยบายอัตราดอกเบี้ยต่ำของเฟดกำลังส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรในรูปการทำอาร์บิทราจสกุลเงินดอลลาร์ (หรือการหากำไรจากการซื้อขายในเวลาเดียวกัน แต่ต่างตลาดกัน) และทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อด้านสินทรัพย์ ซึ่งผลที่ตามมาคือการขัดขวางกระบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม เบอร์นันเก้ไม่แสดงความวิตกกังวลต่อการวิพากษ์วิจารย์ดังกล่าว โดยเขากล่าวว่าเฟดไม่กังวลหากภาวะฟองสบู่ก่อตัวขึ้น เพราะเฟดมีนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นเครื่องมือที่พร้อมจะสกัดกั้นฟองสบู่และเงินเฟ้อ และนโยบายอัตราดอกเบี้ยของเฟดมีเป้าหมายชัดเจนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจโดยปลอดภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงมีเป้าหมายกระตุ้นการจ้างงานและลดภาวะตึงตัวในตลาดการเงิน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ