บริษัทชิปปิ้งญี่ปุ่นแห่ต่อเรือลดโลกร้อน หลัง IMO เตรียมเก็บค่าธรรมเนียม

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 18, 2009 11:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัทชิปปิ้งชั้นนำของญี่ปุ่นแข่งกันสร้างเรือที่เกี่ยวกับการดูแลระบบนิเวศน์ เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในขณะที่เดินเรืออยู่ในน่านน้ำต่างๆ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ โดยนิปปอน ยูเซน เค.เค. ได้จัดแสดงเรือต้นแบบชื่อ ''Super Eco-Ship 2030'' ซึ่งจะสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ได้ถึง 69% เมื่อเปรียบเทียบกับเรือที่ใช้น้ำมันดีเซล

นอกจากนิปปอนแล้ว มิตซุย โอ.เอส.เค ไลน์ส ยังได้เผยแพร่แบบเรือที่ใช้บรรทุกรถซึ่งจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ถึงครึ่งหนึ่งในระหว่างที่แล่นอยู่ในมหาสมุทร

สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การพัฒนาเรือลดโลกร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่องค์การเดินเรือระหว่างประเทศ (International Maritime Organization หรือ IMO) อยู่ในระหว่างการพิจารณาเรื่องการควบคุมการควบคุมการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์จากเรือ โดยจะคิดค่าธรรมเนียมตามปริมาณการปล่อยก๊าซ โดยเรือที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ 1.05 พันล้านตันในปี 2550 หรือ 3.3% ของปริมาณการปล่อยก๊าซทั่วโลก ซึ่งมีปริมาณสูงกว่าการปล่อยก๊าซโดยประเทศเยอรมนีเพียงประเทศเดียว และประมาณ 80% ของปริมาณการปล่อยก๊าซโดยประเทศญี่ปุ่น

บริษัทชิปปิ้งล้วนเป็นผู้ปล่อยก๊าซรายสำคัญในกลุ่มธุรกิจของญี่ปุ่น เช่นเดียวกับบริษัทเหล็กและซีเมนต์ โดยนิปปอน ยูเซน นั้นได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ 16.74 ล้านตันในปีงบประมาณ 2551 ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือนมี.ค.ปีนี้ ส่วนมิตซุย โอ.เอส.เค. ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ออกมาประมาณ 18 ล้านตัน

เมื่อพิจารณาจากปริมาณการขนส่งสินค้าที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขยายตัวเศรษฐกิจในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในจีนและอินเดีย ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์จากเรือขนส่งสินค้าอาจจะเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่าจากระดับปี 2550 ภายในปี 2593

ทั้งนี้ เรือ Super Eco-Ship 2030 ของบริษัทนิปปอน ยูเซน เป็นเรือที่มีความยาว 352 เมตร ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะต่อเรือนี้ขึ้นภายในปี 2573 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกของบริษัทที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เหลือศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ