สหรัฐเตรียมออกกฎให้สถาบันการเงินสมทบทุน $2 แสนล้านแก้ปัญหาภาวะล้มละลาย

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 18, 2009 12:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบาร์นีย์ แฟรงค์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภากองเกรสสหรัฐเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวในวันนี้ว่า สถาบันการเงินในสหรัฐเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์เข้าสู่กองทุนที่รัฐบาลสหรัฐจะจัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ปัญหาสถาบันการเงินล้มละลาย ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าการเพิ่มขึ้นของสถาบันการเงินที่ล้มละลายจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยสภาคองเกรสสหรัฐเตรียมบังคับใช้มาตรการดังกล่าวในสัปดาห์นี้

นายแฟรงค์กล่าวว่า คณะกรรมาธิการด้านการเงินแห่งสภาคองเกรสจะพิจารณาเรื่องการจำกัดค่าธรรมเนียมที่สถาบันการเงินซึ่งมีหลักทรัพย์กว่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ที่จะต้องจ่ายให้กับรัฐก่อนยื่นล้มละลาย โดยมีเป้าหมายที่จะรับมือกับอัตราการผิดนัดชำระหนี้ที่อาจสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินทั้งระบบ นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯยังพิจารณาเรื่องกฎหมายการจัดตั้งคณะทำงานกำกับดูแลสถาบันการเงินที่มีความเสี่ยง และให้สิทธิอำนาจกับบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ในการลดแผนกที่ไม่จำเป็นของสถาบันการเงินรายใหญ่ รวมทั้งการกันสำรองเงินทุนไว้เพื่อแก้ปัญหาการล้มละลาย

ทั้งนี้ นายแฟรงค์ และนางเชียลา แบลร์ ประธาน FDIC รวมทั้งสมาคมนายธนาคารแห่งสหรัฐ มีความเห็นพ้องต้องกันว่าสถาบันการเงินรายใหญ่จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้กับรัฐก่อนยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์สินจากศาลล้มละลาย

บลูมเบิร์กรายงานโดยอ้างการเปิดเผยของ FDIC ว่า จำนวนธนาคารล้มละลายในสหรัฐปีนี้พุ่งขึ้นเป็น 120 รายแล้ว โดยรายล่าสุดคือธนาคารยูไนเต็ด คอมเมอร์เชียล แบงค์ ซึ่งเป็นธนาคารในเครือยูซีบีเอช โฮลดิ้งส์ มีทรัพย์สินราว 1.12 หมืนล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ FDIC คาดว่าจำนวนธนาคารล้มละลายในสหรัฐที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนประกันเงินฝากของ FDIC พุ่งเป็น 1 แสนล้านดอลลาร์ในอีก 4 ปีข้างหน้า และจะทำให้ FDIC ประสบภาวะขาดดุลบัญชีในปีนี้ ด้วยเหตุนี้ FDIC จึงวางแผนที่จะเพิ่มค่าธรรมเนียมพิเศษจากธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศเพื่อเพิ่มเงินทุนในบัญชีของ FDIC จำนวน 5.6 พันล้านดอลลาร์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ