นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.)วันนี้ พิจารณาข้อเสนอขอภาคเอกชนในการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง เช่น ภาครัฐควรให้สิทธิประโยชน์ทั้งภาษีและไม่ใช่ภาษีสำหรับผู้ประกอบการผลิตชิ้นส่วนป้อนให้กับโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน และให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาการขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง
กรอ.มอบหมายให้ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เร่งดำเนินการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และรายงานผลการศึกษาต่อ กรอ.นอกจากนี้ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงคมนาคม และ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมศึกษาความเป็นไปได้การจัดตั้งสถาบันการขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในประเทศ
และให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาแนวทางการกำหนดเงื่อนไขการจัดหาระบบรถไฟฟ้าและรถไฟ โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งด้านการผลิต การเดินรถ การซ่อมบำรุงและบุคลากร และมอบหมายให้ก.อุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สำรวจศักยภาพและขีดความสามารถการผลิตของอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าและอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาต่อไป
ส่วนข้อเสนอเรื่องข้อจำกัดการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาทที่เกิดขึ้นในปัจจุบันในการทำสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชนนั้น นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลจะได้เร่งชี้แจงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เข้าใจมติ ครม.เมื่อ 28 ก.ค.52 ว่าไม่ได้เป็นข้อห้ามต่อหน่วยงานภาครัฐในการใช้วิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท และมอบหมายให้ประธานผู้แทนการค้าไทย ประมวลเรื่องวิธีการอนุญาโตตุลาการเพื่อระงับข้อพิพาท เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
"เรื่องนี้นายกรัฐมนตรี เห็นว่า ตามมติ ครม.ได้เปิดกว้างเป็นกรณีไป หากโครงการใดเป็นโครงการใหญ่ และภาคเอกชนมีความกังวลและมีเหตุผลเพียงพอ สามารถนำมาข้อยกเว้นเป็นรายๆไปได้"นายพุทธิพงษ์ กล่าว
นายพุทธิพงษ์ ยังเปิดเผยว่า ที่ประชุม กรอ.ยังพิจารณาข้อเสนอเรื่องยุทธศาสตร์ยางและไม้ยางพารา โดยมอบหมายให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ)จัดเวทีสำหรับผู้ประกอบการเพื่อจัดคู่ธุรกิจ(Business Matching) และพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการลงทุนเพื่ออุตสาหกรรมแปรรูปยางที่ไทยมีศักยภาพ โดยให้เวลาดำเนินการ 1 เดือน ก่อนกลับมาเสนอต่อ กรอ.
พร้อมมอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เร่งรัดติดตามการดำเนินการตามขั้นตอนการเพิ่มผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ และให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาดำเนินการต่อยอดพัฒนาอุตสาหกรรมในขั้นกลางน้ำและปลายน้ำ โดยเชื่อมโยงการพัฒนายางต้นน้ำ ตามยุทธศาสตร์พัฒนายางพารา ปี 52-56 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งรับหลักการให้จัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา
สำหรับข้อเสนอของภาคเอกชนที่ขอลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล เหลือ 4.50 บาท/ลูกบาศก์เมตรนั้น ที่ประชุมมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทบทวนความเป็นไปได้การปรับปรุงอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยคำนึงถึงแนวโน้มปริมาณการใช้น้ำที่จะเพิ่มขึ้น และความเสี่ยงของสถานการณ์การทรุดตัวของแผ่นดิน
รวมถึงพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนอนุรักษ์น้ำบาดาลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการน้ำบาดาล และแก้ไขผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรม เช่นการพัฒนาแหล่งน้ำทดแทน พัฒนาเทคโนโลยีสะอาด ประหยัดน้ำและนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ การพิจาณาจัดหาแหล่งน้ำธรรมชาติทดแทนหรือแหล่งน้ำอื่นที่เหมาะสมให้ผู้ประกอบการทั้งในเขตกรุงเทพ ปริมณฑล และบริเวณอื่นอย่างเหมาะสมเพียงพอ เพื่อแก้ปัญหาการใช้น้ำอย่างบูรณาการ โดยทั้งหมดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน