นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง"นโยบายรัฐบาลกับการเสริมสร้างเศรษฐกิจภาคประชาชน ในโครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ"ว่า รัฐบาลมีความตั้งใจแก้ปัญหาหนี้นอกระบบให้ประชาชน เพราะหากไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ การขับเคลื่อนโครงการไทยเข้มแข็ง คงไม่สามารถเดินหน้าได้เต็มที่
"รัฐบาลมีความมุ่งมั่นชัดเจนที่จะขจัดปัญหานี้ออกจากสังคมให้ได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบันมีประชาชนเป็นหนี้นอกระบบ 1 ล้านคน ถือเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน ดังนั้น นโยบายที่รัฐบาลดำเนินการจะเปิดโอกาสให้ประชาชนที่มีหนี้สินมาลงทะเบียนภายใน ธ.ค.52 หลังจากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้าง การเจรจา แปลงหนี้นอกระบบกลับสู่ระบบ
กระทรวงการคลังจะเป็นหน่วยงานหลักแก้ปัญหาหนี้สินประชาชน และมอบหมายให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง เข้าช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์
หลังมีการช่วยเหลือประชาชนที่มีหนี้นอกระบบแล้ว รัฐบาลจะมีการเตรียมการฝึกอาชีพให้ผู้เข้าโครงการ เพื่อเป็นการหารรายได้เพิ่มนำมาชำระหนี้ต่อไป และการที่รัฐบาดลำเนินการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจะมีส่วนเชื่อมโยงลดปัญหาผู้มีอิทธิพล การใช้ความรุนแรง และหลังว่าโครงการนี้จะช่วยประชาชนพ้นภาระหนี้นอกระบบได้
นางศรีประภา พริ้งพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย(KTB) กล่าวว่า หลักเกณฑ์การเข้าร่วมโครงการแก้หนี้นอกระบบ จะต้องเป็นหนี้ที่มีเงินต้นคงค้างไม่เกิน 2 แสนบาท/ราย เป็นหนี้ที่เกิดก่อน 19 พ.ย.52 ประชาชนต้องไปขึ้นทะเบียนที่ธนาคารออมสิน หรือ ธ.ก.ส. ระหว่างวันที่ 1-30 ธ.ค.52 หลังจากกรมบัญชีกลาง จะทำการประมวลผล พร้อมส่งข้อมูลไปยังทีมเจรจาหนี้ในแต่ละจังหวัด เพื่อทำการเจรจาประนอมหนี้ในเดือน ก.พ.-เม.ย.53 จากนั้นจะส่งลูกหนี้ไปยังธนาคารที่เข้าร่วมโครงการ
ทั้งนี้ลูกหนี้ที่มีหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ ให้ธนาคารที่มีจำนวนหนี้มากที่สุดรับไปดำเนินการ ส่วนลูกหนี้ที่มีเฉพาะหนี้นอกระบบ ให้ธนาคารกรุงไทยดูแลลูกหนี้ที่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ดูแลลูกหนี้ที่เป็นเกษตรกร เอสเอ็มอีแบงก์ ดูแลลูกหนี้ที่มีอาชีพค้าขายและเป็นหนี้เนื่องจากการลงทุนประกอบอาชีพ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยดูแลลูกหนี้ที่มีหนี้บัตรเครดิตและอยู่ใน 9 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ส่วนหนี้ที่เหลือ ธนาคารออมสินรับไปดำเนินการ
นางศรีประภา กล่าวว่า ในส่วนของธนาคาร กำหนดรูปแบบการกู้เงินแบบมีระยะเวล โดยวงเงินกู้รายละไม่เกิน 2 แสนบาทจะพิจารณาจากความสามารถในการชำระหนี้ ระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 8 ปี ผ่อนชำระต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนๆละเท่าๆกัน หากลูกหนี้สมัครใจชำระหนี้ก่อนกำหนด ธนาคารจะไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียม สามารถใช้บุคคลค้ำประกันหรือจำนองหลักทรัพย์
กรณีกู้เกิน 1 แสนบาท ใช้ผู้ค้ำประกันได้มากกว่า 1 คน โดยรายได้ของผู้ค้ำประกันรวมกันต้องไม่ต่ำกว่า 10% ของวงเงินกู้ อัตราดอกเบี้ย กรณีใช้บุคคลค้ำประกัน คิดอัตรา MRR บวก 4% ต่อปี หรือปัจจุบันอยุ่ที่ 10.375% ต่อปี กรณีจำนองหลักทรัพย์ คิดอัตรา MRR บวก 2% ต่อปี หรือปัจจุบันอยู่ที่ 8.375% ต่อปี ทั้งนี้ดอกเบี้ย 3 ปีแรกต้องไม่เกิน 12% ต่อปี