นายพรายพล คุ้มทรัพย์ อ.ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อภิปรายเรื่องทิศทางเศรษฐกิจไทยปี 53 ว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 53 ที่เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น ทั้งภาคการผลิตและคำสั่งซื้อ สะท้อนให้เห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 53 จะกลับมาขยายตัว 3-5% เป็นผลจากแรงเสริมจากมาตรการต่างๆของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ส่วนปีนี้ คาดว่าไตรมาส 2/52 เศรษฐกิจจะติดลบ 3.8% และจะกลับมาเป็นบวก 0.9% ในไตรมาส 4/52 และทั้งปี 52 คาดว่าเศรษฐกิจยังติดลบ 3.8%
นายพรายพล กล่าวว่า ภาคการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสร้างรายได้กลับประเทศได้เร็วที่สุด และเมื่อการส่งออกฟื้นตัว ภาคการผลิตและการลงทุนเอกชนจะฟื้นตัวตามมาด้วย ขณะที่กลไกขับเคลื่อนภาครัฐ โดยเฉพาะการออกมาตรการต่างๆ ยังเป็นปัจจัยสำคัญในการการะตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงทั้งภายในและภายนอกประเทศ ที่อาจมีผลทำให้เศรษฐกิจขยายตัวไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ประกอบด้วย ปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเติบโตเศรษฐกิจในปี 53
"ยังไม่เชื่อว่า นายกรัฐมนตรีจะไม่เสียสมาธิในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ และอาจทำให้การแก้ปัญหาเศรษฐกิจล่าช้าได้" นายพรายพล กล่าว
นอกจากนี้ หากรัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายเงินงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย ทั้งโครงการลงทุนไทยเข้มแข็ง ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะ 2 จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราต่ำกว่าที่คาดไว้ ขณะที่ภาระหนี้สาธารณะของรัฐบาล จากการที่รัฐบาลออกมาตรการเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ส่งผลที่สร้างภาระหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้น
ส่วนความผันผวนของราคาน้ำมันในปี 53 คาดว่ายังอยู่ในช่วงขาขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้น้ำมันมีเพิ่มมากขึ้น หลังภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัว และเมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้นจะกระทบต่อต้นทุนการผลิต และส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ที่จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
อัตราแลกเปลี่ยน ดยที่เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐ ยังอ่อนค่าต่อเนื่องจากผลของเงินทุนไหลออกจากสหรัฐจำนวนมาก และเมื่อเงินบาทแข็งค่ากว่าประเทศคู่ค้า จะส่งกระทบต่อการส่งออกของไทย
และคำสั่งของศาลปกครองที่ให้ชะลอโครงการลงทุน 76 โครงการในนิมคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อาจส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็ก ที่มีฐานการผลิตสำคัญในมาบตาพุด และอาจทำให้เกิดการชะลอการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง และกระทบต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยในที่สุด