OECD ยกระดับคาดการณ์ศก.ประเทศอุตสาหกรรมในปีหน้าถึง2เท่า จากอานิสงส์ศก.จีน-เอเชีย

ข่าวต่างประเทศ Thursday November 19, 2009 19:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้ยกระดับคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศอุตสาหกรรมหรือประเทศร่ำรวยถึง 2 เท่าในปีหน้า และคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่เร็วยิ่งขึ้นไปอีกในปี 2554 โดยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อื่นๆ แต่เตือนว่าการฟื้นตัวจะยังคงเปราะบางไปอีกสักระยะหนึ่ง

OECD คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของกลุ่มสมาชิกรวม 30 ประเทศ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น เยอรมนี และอังกฤษ จะขยายตัว 1.9% ในปี 2553 ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากระดับคาดการณ์เมื่อเดือนมิ.ย. ที่ 0.7%

ในส่วนของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิกนั้น OECD คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.5% ในปีหน้า เทียบกับคาดการณ์ก่อนหน้านี้ว่าจะขยายตัวเพียง 0.9% และเศรษฐกิจยูโรโซน หรือ กลุ่มประเทศที่ใช้เงินสกุลยูโร 16 ประเทศ น่าจะขยายตัว 0.9% จากที่คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนมิ.ย.ว่าจะขยายตัวที่ระดับ 0%

ส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัว 1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะโต 0.7% นอกจากนี้ OECD ยังปรับเพิ่มคาดการณ์เศรษฐกิจจีนว่าจะขยายตัวถึง 10.2% ในปี 2553

ทั้งนี้ OECD ยังได้เปิดเผยคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2554 เป็นครั้งแรก โดยคาดว่าเศรษฐกิจของกลุ่มสมาชิกโดยรวมจะขยายตัว 2.5% เศรษฐกิจสหรัฐจะโต 2.8% ยูโรโซนขยายตัว 1.7% และญี่ปุ่น 2% ส่วนจีนนั้น คาดว่าจะขยายตัว 9.3%

อังเกล เกอร์เรีย เลขาธิการ OECD กล่าวในการแถลงข่าวที่กรุงโตเกียว เนื่องในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจล่าสุดในวันนี้ว่า "ข่าวดีก็คือ การฟื้นตัวที่เริ่มต้นขึ้นในบางภูมิภาคเมื่อตอนต้นปีนี้ ได้แผ่อิทธิพลมาถึง OECD แล้วในท้ายที่สุด"

อย่างไรก็ตาม เกอร์เรียเตือนว่า ยังคงมีความเสี่ยงหลายประการต่อการฟื้นตัว และคาดว่าการฟื้นตัวยังคงเปราะบางไปอีกสักระยะหนึ่ง

ด้านจอร์เกน เอลเมสคอฟ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD ระบุในรายงานว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก OECD เกือบทุกประเทศมีแนวโน้มที่จะที่ผันผวน เนื่องจากยังมีแรงต้านที่สำคัญ อาทิ หนี้สาธารณะที่สูงขึ้นอาจเป็นอุปสรรคบั่นทอนการขยายตัว

"ตอนนี้ เรามีปัจจัยหลายประการที่สนับสนุนการขยายตัว แม้การขยายตัวยังเป็นไปอย่างช้าๆ เนื่องจากมีแรงต้าน ซึ่งได้แก่ความจำเป็นในการปรับงบดุลของภาคครัวเรือน วิสาหกิจ และภาคการเงิน"

"ปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆนอกกลุ่ม OECD สดใสมากกว่า โดยเฉพาะในเอเชีย" เอลเมสคอฟระบุ "ประเทศนอกกลุ่ม OECD ไม่ได้รับผลกระทบจากการล่มสลายของราคาสินทรัพย์มากเท่าไรนัก และดำเนินนโยบายเศรษฐกิจอย่างสมเหตุสมผลในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำ"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ