นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ภาวะการค้าต่างประเทศในเดือน ต.ค.52 การส่งออกมีมูลค่า 14,813 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวลดลง 2.98% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 13,050 ล้านดอลลาร์ ลดลง 17.9% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ยังเกินดุลการค้า 1.76 พันล้านดอลลาร์
"ยอดส่งออกในเดือนตุลาคมดีขึ้น เพราะสินค้าหลายตัวส่งออกกระเตื้องขึ้นมาก" นางพรทิวา กล่าว
สินค้าส่งออกที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในหมวดของสินค้าเกษตร เช่น ข้าว มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป ส่วนสินค้าหมวดอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อัญมณีและเครื่องประดับ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องสำอางค์ และการส่งออกไปยังตลาดใหม่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนตลาดหลักหดตัวน้อยลง
ขณะที่การส่งออกทองคำมีมูลค่า 517 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 63.8% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่ยังต่ำกว่าเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาที่มีการส่งออกทองคำสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า ภาวะการส่งออกหลังจากนี้ไปจะมีความยั่งยืน โดยจะเห็นได้ว่าเดือน ต.ค.ติดลบน้อยลง และไม่ได้มีอานิสงส์มาจากการส่งออกทองคำ ซึ่งการส่งออกเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน เม.ย.52 คาดว่าฟื้นตัวต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว และสต็อกสินค้าของผู้นำเข้าลดลง ทำให้มีคำสั่งซื้อเข้ามาเพื่อรองรับการเฉลิมฉลองในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่
สำหรับช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.52) การส่งออกมีมูลค่า 124,114 ล้านดอลลาร์ หดตัว 19.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 106,594 ล้านดอลลาร์ หดตัว 31.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้า 17,520 ล้านดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม รมว.พาณิชย์ คาดว่า การส่งออกช่วง Q4/52 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3-5% โดยช่วง 2 เดือนสุดท้าย(พ.ย.-ธ.ค.) ของปีนี้จะขยายตัว 5-10% ส่งผลให้การส่งออกทั้งปี 52 จะติดลบ 13% คิดเป็นมูลค่า 154,000 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ภาวะการส่งออกปี 53 หากสถานการณ์ทางการเมืองนิ่ง ราคาน้ำมันอยู่ที่ 80-100 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ราว 10-15%
ด้านนายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้การส่งออกในช่วงไตรมาส 4/52 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากความสำเร็จของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ, ผู้นำเข้าเริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้าเข้าสต็อกเพื่อรองรับช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง, คุณภาพสินค้าของไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดมากขึ้น, ความพยายามในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้กับผู้ส่งออก และฐานการส่งออกในเดือน พ.ย.-ธ.ค.51 อยู่ในระดับต่ำ
ส่วนปัจจัยเสี่ยงยังเป็นเรื่องแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดส่งออกที่สำคัญที่ยังมีควาเมปราะบาง, ความผันผวนของราคาน้ำมัน, เสถียรภาพของเงินบาท, ความล่าช้าในการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคให้กับผู้ส่งออก และปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
ขณะที่แนวโน้มการนำเข้าในเดือน ต.ค.ขยายตัวค่อนข้างดี โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าวัตถุดิบ ได้แก่ อะไหล่เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และ เหล็ก ซึ่งเป็นสัญญาณว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าในกลุ่มนี้