นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.)เปิดเผยว่า ปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปี 53 ให้เป็นไปตามคาดการณ์ นอกจากการลงทุนภาครัฐแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องเร่งสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาการลงทุนในพื้นที่มาบตามพุด เพราะหากเรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้นที่ไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อม นอกเหนือจาก 76 โครงการ
ทั้งนี้ การตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายเพื่อแก้ปัญหามาบตาพุดที่มีนายอานันท์ ปันยารชุนเป็นประธาน โดยจะใช้เวลา 120 วัน เพื่อหาข้อสรุป เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม และนักลงทุนจะรอฟังความชัดเจนในเรื่องนี้ได้
นอกจากนั้น ปัจจัยความสงบในประเทศ และความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากที่ผ่านมาความต่อเนื่องในโครงการต่าง ๆ ของรัฐบาล เช่น การทำงบกลางปี 52 จำนวน 1.167 แสนล้านบาท การเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการไทยเข้มแข็งสามารถเดินหน้าได้ดี
แต่หากเกิดการสะดุดจากปัจจัยความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง อาจต้องเว้นวรรคไปถึง 1 ไตรมาส เพราะหากรัฐบาลใหม่เข้ามาก็ต้องใช้เวลา 3-5 เดือนในจัดทำนโยบายและทบทวนโครงการต่างๆ ในขณะที่กว่าความเชื่อมั่นของเอกชนจะกลับมาต้องใช้เวลาอีก 5-6 เดือน
"แสดงว่าปีหน้า ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงอะไรต่างๆ ความต่อเนื่องต่อนโยบายเศรษฐกิจก็ไม่ต่อเนื่อง และโอกาสที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวจากเศรษฐกิจโลก ที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเป็นบวก ก็เป็นเรื่องยาก"นายอำพน กล่าว
เลขาธิการ สศช. กล่าวว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ในขณะนี้ ถือเป็นปัญหาชั่วคราว เพราะสิ่งสำคัญรัฐบาลจะต้องเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์กับประเทศเพื่อนบ้าน และถือเป็นปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าด้านเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งประเทศไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงการสร้างสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศเพื่อนบ้านได้ เพราะจะนำไปสู่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวและเชื่อมโยงโลจิสติกส์นำไปสู่การค้าระหว่างประเทศที่เป็นระบบมากขึ้น