นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการ คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลผลิตมวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ไตรมาส 3/52 ติดลบ 2.8% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวเป็นบวก 1.3% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้า โดยตัวเลขจีดีพีในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ติดลบ 5.0%
สภาพัฒน์ มองว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยจีดีพีเทียบปีต่อปีติดลบน้อยลง หลังจากจีดีพีเติบโตไตรมาสต่อไตรมาส มาสอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน และยังคาดว่าไตรมาส 4/52 จีดีพีจะฟื้นมาขยายตัวเป็นบวกที่ 2.7-3.2% ทำให้คาดว่าทั้งปี 52 จีดีพีอาจะติดลบน้อยกว่า 3% จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะติดลบ 3.0-3.5%
"ทั้งปี 52 เราคาดว่าจะติดลบประมาณ 3% ซึ่งถือว่าน้อยลงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ต้นปีว่าจะติดลบ 4% แต่ทั้งนี้จีดีพี ปี 52 ยังมีโอกาสที่จะติดลบน้อยกว่า 3% ได้...ถ้าทุกอย่างนิ่งและเป็นไปตามแนวโน้มในเดือนต.ค. อาจจะมีการประกาศตัวเลขทั้งปีติดลบไม่เกิน 3% ถ้าทุกอย่างนิ่ง มีความต่อเนื่อง และมีความสงบ"นายอำพน กล่าว
นายอำพน กล่าวว่า เครื่องชี้สำคัญที่แสดงเห็นการฟื้นตัวเศรษฐกิจต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังปี 52 และต่อเนื่องในปี 53 มาจาก 5 ปัจจัยหลัก คือ 1.อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเป็น 64.7% ในเดือน ก.ย. จากที่เคยต่ำสุดในเดือน ก.พ.ที่ 54.8%, 2.จำนวนผู้ว่างงานลดลงต่อเนื่อง เหลือ 458,000 คนในเดือน ก.ย.คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.2% จากที่เคยสูงถึง 878,000 คนในเดือน ม.ค.52 คิดเป็นอัตราการว่างงาน 2.4% 3. การท่องเที่ยวที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นชัดเจนในไตรมาส 4/52 โดยอัตราการเข้าพักของโรงแรมในเดือน ก.ย.เพิ่มขึ้นเป็น 48.6% ซึ่งขยายตัว 17.4% จากจุดที่เคยต่ำสุดในเดือนมิ.ย.ซึ่งอยู่ที่ 40.8% ซึ่งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปีนี้มีโอกาสจะแตะ 14 ล้านคนได้ตามเป้าหมาย 4. ภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยการส่งออกเดือน ต.ค.52 ติดลบน้อยลงเหลือเพียง 3% ซึ่งเทียบกับในเดือนพ.ค.ที่อัตราการส่งออกของไทยติดลบสูงสุดถึง 26.5% และ 5.ราคาสินค้าเกษตรปรับเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และบางประเทศที่เป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ประสบภาวะการขาดแคลนอันเนื่องมาจากปัญหาภัยธรรมชาติ เช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์
เลขาธิการ สภาพัฒน์ เชื่อว่าไตรมาส 4/52 จีดีพีจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก จากการปรับตัวดีขึ้นของภาคการส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค และการลงทุนภาครัฐ จากนั้นในปี 53 คาดว่าจีดีพีน่าจะขยายตัวได้ 3-4% โดยหัวใจหลักของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้ายังมาจากการลงทุนของภาครัฐภายใต้แผนปฏิบัตการไทยเข้มแข็งเป็นหลัก เนื่องจากมองว่าภาคเอกชนคงยังไม่สามารถเป็นตัวหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้
"ในปีหน้า หัวใจสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย อยู่ที่การลงทุนของภาครัฐในโครงการไทยเข้มแข็งเป็นหลัก เพราะเรายังไม่คิดว่าการลงทุนของภาคเอกชนจะเป็นหลักได้ในการขับเคลื่อนได้เพียงพอ" นายอำพน ระบุ
นอกจากปัจจัยหนุนเศรษฐกิจไทยจากการลงทุนภาครัฐแล้ว ภาคการส่งออกในปีหน้าจะต้องหันมาเน้นการใช้ประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในกลุ่มอาเซียนและ JTEPA อย่างเต็มที่ ขณะที่นโยบายการเงินการคลังจะต้องมีความต่อเนื่องจากปี 52 รวมถึงการออกมาตรการทางการเงินที่จะต้องผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนมากขึ้น
สภาพัฒน์ยังคาดการณ์ว่า ในปี 53 การลงทุนรวมจะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ที่ 3.8% จากที่คาดว่าในปีนี้จะติดลบ 8.6% ขณะที่การบริโภครวมจะเติบโต 2.5% จากที่ในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 0.2% โดยการส่งออกปีหน้าจะเติบโตได้ 10% นำเข้าโต 18.5% เกินดุลการค้า 13 พันล้านดอลลาร์ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 14.6 พันล้านดอลลาร์ และอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 53 อยู่ที่ 2.5-3.5%
ทั้งนี้ จีดีพีในปี 53 ที่คาดว่าขยายตัว 3-4% อยู่ภายใต้สมมติฐาที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อยู่ที่ระดับ 75-85 ดอลลาร์/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนที่ 32-33 บาท/ดอลลาร์