นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)มองว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่ทั่วทั้งกรุงเทพมหานคร(กทม.)ในช่วง 28 พ.ย.-14 ธ.ค.นี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและประชาชนมากนัก เพราะที่ผ่านมาก็เคยมีการประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวในบางพื้นที่ไปแล้ว ซึ่งไม่ได้ทำให้เกิดความวุ่นวายหรือมีการใช้เคอร์ฟิวแต่อย่างใด
ประธาน ส.อ.ท.มองว่า การใช้กฎหมายดังกล่าวก็เพื่อการควบคุมการชุมนุมหรือเตือนผู้ชุมนุมให้เคลื่อนไหวและทำกิจกรรมต่าง ๆ อยู่ในขอบเขตเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าภาคเอกชนและรัฐบาลเป็นห่วงสถานการณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.)ที่จะมีขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เพราะขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมเริ่มฟื้นตัว และการท่องเที่ยวก็เพิ่งเริ่มดีขึ้น หากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงก็อาจจะเสียบรรยากาศต่อสถานการณ์ที่เพิ่มเริ่มปรับตัวดีขึ้นมา
ทั้งนี้ มองว่าการชุมนุมของกลุ่ม นปช.สามารถทำได้ แต่ขอให้อยู่ในความสงบ โดยเฉพาะในช่วงเดือนหน้าจะเข้าสู่ช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธ.ค. หากมีสิ่งใดเกิดขึ้นก็อาจกระทบกับการจัดงานต่าง ๆ และกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก
"มีความกังวลว่าการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคนเสื้อแดงในช่วงปลายเดือนนี้ หากเกิดความรุนแรงจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและการท่องเที่ยวของประเทศได้" นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธาน ส.อ.ท.กล่าว
ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบการระดมแรงงานต่างด้าวในโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปเข้ามาร่วมการชุมนุมครั้งนี้ แม้จะมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ก็ตาม แต่ส่วนตัวมองว่าการระดมแรงงานต่างด้าวเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย และหากเป็นแรงงานต่างด้าวจริง ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยอยากเปิดเผยตัว หรือมาร่วมเดินขบวน เพราะกลัวว่ารัฐบาลตรวจจับและส่งตัวกลับประเทศ ทั้งนี้จะหารือกับสมาชิก ส.อ.ท.เพื่อป้องกันไม่ให้มีการระดมแรงงานต่างด้าวไปร่วมชุมนุม
ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า การที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ.มั่นคงฯ ถือเป็นระยะเวลาที่นานกว่าการประกาศใช้ในทุกครั้งที่ผ่านมา และการประกาศใช้ในครั้งนี้ถือเป็นช่วงที่มีข่าวทางการเมืองที่สับสน ซึ่งกรณีนี้อาจทำให้ชาวต่างชาติมีความระมัดระวัง และส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในช่วงปีใหม่ไม่คึกคักมากนัก
"อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้าให้ฟื้นตัวช้าลงจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 3% ภาคการส่งออกขยายตัว 10% หากการเมืองไม่มีเสถียรภาพทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณสะดุด ปัญหามาบตาพุดไม่ยุติเศรษฐกิจอาจขยายตัวเพียง 2% ส่วนเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4 ปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ภาคการส่งออกขยายตัวที่ 8-10% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว" นายธนวรรธน์ กล่าว
ขณะที่นายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บล.ภัทร กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่าจะขยายตัวประมาณ 3.5% เนื่องจากภาคการส่งออกเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น การเร่งใช้เงินงบประมาณตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล และการลงทุนของภาคเอกชนเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากปัญหามาบตาพุด เพราะอาจจะกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงปัญหาความไม่สงบภายในประเทศ ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวยุติลงเศรษฐกิจไทยก็มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว
ส่วนนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวดีขึ้น โดยจะเห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มติดลบน้อยลงตั้งแต่ไตรมาสแรกเป็นต้นมาจนถึงไตรมาสที่ 3 เนื่องจากรัฐบาลมีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เร่งการลงทุนและการบริโภค รวมถึงเชื่อว่าแนวโน้มการส่งออกจะมีทิศทางที่ดีขึ้น ทั้งในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเอเชีย แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นรัฐบาลจะพยายามส่งเสริมให้เอกชนมีความเข้มแข็งมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาวแทนภาครัฐ