"โฆสิต"แนะภาคการเมืองหนุนปรับโครงสร้างศก.ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ-ยากจน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2009 11:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการ ธนาคารกรุงเทพ(BBL) ในฐานะประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง"การปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อความเป็นธรรมในสังคม"ว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่คนไทยทุกคนต้องร่วมมือกันเพื่อหาทางออกของการแก้วิกฤติของประเทศด้วยการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาความยากจน ความเลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

ต้นตอของปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจไทย มาจาก 3 เรื่องด้วยกัน คือ ปัญหาความยากจน ที่เป็นปัญหาพื้นฐานของประเทศ ปัญหาการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการคอรัปชั่นทั้งในเชิงนโยบาย หรือการผูกขาด รวมถึงมาตรการของรัฐบาลบางเรื่อง เช่น การให้สัมปทาน ทำให้เกิดผลตอบแทนส่วนเกิน และทำให้นักธุรกิจใช้ผลตอบแทนดังกล่าวเพื่อประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมปัจจุบัน

และสุดท้ายปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ยังรุนแรงและเรื้อรัง สะท้อนได้จากยังมีคนยากจนและมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ขาดสวัสดิการ และขาดโอกาสการเข้าถึงความช่วยเหลือของภาครัฐทั้งด้านสาธารณสุข การศึกษา และสินเชื่อ

"เมื่อรวมกับการที่นักการเมืองวางนโยบายประชานิยม ที่ซื้อใจกลุ่มคนด้อยโอกาส แม้จะเกิดผลสำเร็จทางการเมือง ได้รับการตอบรับสูง ได้รับคะแนนนิยมสูง โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง และพื้นฐานเศรษฐกิจไทย ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจไม่รู้จบ"นายโฆสิต กล่าว

นายโฆสิต กล่าวอีกว่า ปัญหาความยากจน การทุจริตคอรัปชั่น และความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจ ยังเป็นรากเหง้าของปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข จากอดีตที่มุ่งเน้นการปฏิรูปกฎกติกาหรือสถาบันการเมือง จากนี้ไปจะต้องมุ่งสร้างความเข้าใจถึงการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อลดปัญหาดังกล่าว เพราะหากไม่สามารถทำความเข้าใจกับปัญหาและแก้ไขได้ ปัญหาจะลุกลามขยายวงกว้าง จนเกิดผลเสียของประเทศอย่างที่คาดไม่ถึง

"จากการสอบถามชาวบ้าน มองประเทศก็เหมือนหม้อข้าวตัวเอง ถ้าเราไม่รักประเทศก็เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง ผมก็คิดว่าหากเราไม่ทำความเข้าใจ หาทางออกที่ราบรื่น ก็เหมือนกำลังทุบหม้อข้าวตัวเอง หากไม่เข้าใจถึงอันตราย ปัญหายังจะลุกลามออกไป จะเกิดผลเสียของประเทศอย่างที่คาดไม่ถึง" นายโฆสิต กล่าว

ทั้งนี้ ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การปฎิรูปเศรษฐกิจต้องอาศัยการเมืองเข้าสนับสนุน โดยต้องรับฟังเสียงจากประชาชน เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่หลากหลาย และเมื่อมีการนำเสอนผลการศึกษาที่มีความชัดเจน มีข้อมูลที่รอบด้าน จะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ