ผู้ส่งออกน้ำมันปาล์ม-ถ่านหินส่อเค้าเผชิญกำไรหดตัว เหตุเงินรูเปียห์จ่อคิวพุ่งแรง

ข่าวต่างประเทศ Wednesday November 25, 2009 12:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สมาคมผู้ประกอบการเหมืองแห่งอินโดนีเซียเปิดเผยว่า ผลกำไรของบริษัทส่งออกน้ำมันปาล์มและถ่านหินมีแนวโน้มลดลงหากค่าเงินรูเปียห์พุ่งขึ้น 6% แตะระดับ 9,000 รูเปียห์/ดอลลาร์ นอกจากนี้ บริษัทส่งออกจะได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของต้นทุนเชื้อเพลิงและราคาเชื้อเพลิง

นักวิเคราะห์หลายคนคาดว่า ค่าเงินรูเปียห์อินโดนีเซียซึ่งเป็นสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดในเอเชียปีนี้ จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 9,000 รูเปียห์/ดอลลาร์ภายในปลายปี 2553 ซึ่งเงินรูเปียห์ที่พุ่งขึ้นอย่างรุนแรงจะส่งผลกระทบต่ออินโดนีเซียซึ่งเป็นผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันปาล์มและถ่านหินรายใหญ่สุดของโลก

นายบ็อบ กามันดานู ประธานสมาคมผู้ประกอบการเหมืองแห่งอินโดนีเซียกล่าวว่า "ค่าเงินที่ระดับ 9,000 รูเปียห์/ดอลลาร์ถือเป็นระดับที่วิกฤตมาก เพราะแข็งค่าเกินไปและจะส่งผลคุกคามอุตสาหกรรมส่งออกซึ่งคิดเป็นร้อยละ 24 ของตัวเลขจีดีพีอินโดนีเซีย"

นอกจากนี้ นายกามันดานูคาดว่าผลประกอบการของผู้ส่งออกถ่านหินจะได้รับผลกระทบจากราคาเชื้อเพลิงที่สูงขึ้น หลังจากราคาน้ำมันดิบ NYMEX พุ่งขึ้นไปแล้ว 70% ในปีนี้ และปัจจุบันราคาเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 75.97 ดอลลาร์/บาร์เรล ซึ่งนายกามันดานูกล่าวว่าหากราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นไปแตะ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ก็จะยิ่งฉุดรายได้ของผู้ส่งออกถ่านหินให้ทรุดหนักลงด้วย

สำนักงานสถิติแห่งชาติอินโดนีเซียรายงานว่า ยอดส่งออกประจำเดือนก.ย.ร่วงลง 19.9% จากปีที่แล้ว หลังจากลดลง 15.4% ในเดือนส.ค. ขณะที่ค่าเงินรูเปียห์แข็งค่าขึ้นไปแล้ว 15% ในปีนี้ ทำสถิติแข็งค่าขึ้นเกือบสองเท่าของสกุลเงินวอนเกาหลีใต้

ข้อมูลจากคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์อินโดนีเซียบ่งชี้ว่า นักลงทุนต่างชาติได้ทุ่มเม็ดเงินลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรอินโดนีเซียจำนวนมากในปีนี้ เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่ขยายตัวแข็งแกร่งสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลให้ดัชนีคอมโพสิตพุ่งขึ้น 82% ขณะที่คำสั่งซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติอยู่ที่ 951 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าคำสั่งซื้อสุทธิของนักลงทุนภายในประเทศ

นายสตีเฟ่น ฮาลิม รองเลขาธิการสมาคมผู้ประกอบการเหมืองแห่งอินโดนีเซียเปิดเผยว่า กลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน 378 รายซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมฯ กำลังประสบความยากบำลากเนื่องจากราคาอาหารที่ใช้เลี้ยงพนักงานพุ่งสูงขึ้น โดยเมื่อวานนี้ราคาค้าปลีกข้าวในอินโดนีเซียอยู่ที่ระดับ 5,550 รูเปียห์/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากระดับ 5,400 รูเปียห์/กิโลกรัมของปีที่แล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ