นายนิพนธ์ พัวพงศกร ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยคงต้องอาศัยระยะเวลาในการฟื้นตัวพอสมควร ซึ่งคาดว่าน่าจะนานกว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ต้องใช้เวลาราว 5 ปี เนื่องจากมีปัญหาภายในประเทศ เช่น ปัญหาการเมือง ปัญหาการพัฒนาเศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก
"การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยคงไม่ได้เป็นรูปตัววี แต่เป็นเหมือนลูกปิงปองที่เด้งขึ้นเด้งลงมากกว่า" นายนิพนธ์ กล่าว
โดยปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมาน่าจะมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากความไม่เสมอภาคทางเศรษฐกิจยังอยู่นระดับสูงมาก นโยบายของรัฐเปิดช่องให้มีการแสวงหาผลกำไรส่วนเกินในรูปแบบต่างๆ การผูกขาดและแสวงหาผลประโยชน์จากโครงการรัฐ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองจึงมีโอกาสเรื้อรังต่อไป
"การปฏิรูปการเมืองที่เน้นเฉพาะการเปลี่ยนแปลงกฎกติกาการเลือกตั้ง การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการเมืองต่างๆ ได้ ตราบใดที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประชาชนกลุ่มต่างๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไข" นายนิพนธ์ กล่าว
ขณะที่การดำเนินมาตรการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรมีการกระจุกตัวของผลตอบแทนส่วนเกิน ทำให้ภาครัฐเป็นผู้ค้าสินค้าเกษตรรายใหญ่ที่สุด แต่เมื่อรับจำนำเข้ามาอยู่ในสต็อกแล้วสินค้าจะเสื่อมคุณภาพและขายออกไปในราคาขาดทุน มีขบวนการวิ่งเต้น มีปัญหาทุจริตใช้อำนาจการเมืองแสวงหาผลประโยชน์ทำให้เกิดการสูญเสีย
"ภาครัฐควรเลิกแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร ปล่อยให้เอกชนค้าขาย แต่กำกับเอกชนไม่ให้เอาเปรียบเกษตรกร แต่คงไว้สำหรับนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรที่ยากจน" นายนิพนธ์ กล่าว
ส่วนการปรับปรุงมาตรการประกันรายได้ควรปรับลดปริมาณประกันราคาสินค้าเกษตร เช่น ข้าวเปลือกเหลือ 10 ตันต่อครอบครัว, การให้เกษตรกรจ่ายเบี้ยประกันให้กับบริษัทประกันภัยเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ, การลงทุนระบบถ่ายภาพผ่านดาวเทียมเพื่อตรวจสอบพื้นที่เพราะปลูกในการประกันราคา, ไม่ควรใช้เงินกู้ในโครงการต่างๆ แต่ควรจัดสรรจากงบประมาณประจำปี
"การประกันรายได้ของรัฐบาลยังมีจุดอ่อนด้านต่างๆ เกษตรกรจำนวนมากไม่เข้าใจเพราะประชาสัมพันธ์น้อยมาก เริ่มต้นโครงการล่าช้า และยังมีกลุ่มผลประโยชน์คอยถ่วงโครงการไม่ให้คืบหน้า" นายนิพนธ์ กล่าว
ประธาน TDRI ยังเสนอแนะให้รัฐบาลทบทวนโครงการ 5 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือค่าครองชีพให้ประชาชน เนื่องจากหลายมาตรการยังไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะเข้าไปช่วยเหลือประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายอย่างแท้จริง เช่น มาตรการค่าน้ำประปาฟรี ซึ่งบ้านเรือนส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาไม่ถึง 30 หน่วย ขณะที่ผู้ยากจนต้องเช่าบ้านกลับไม่ได้อยู่ในระบบที่จะได้ใช้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากรัฐบาลไม่มีฐานข้อมูลของกลุ่มเป้าหมาย, ส่วนมาตรการค่าไฟฟ้าฟรีก็ควรทบทวนเรื่องปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม ประธาน TDRI เห็นว่า การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเดินมาถูกทางแล้ว เช่น แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 แต่รัฐบาลควรปรับเปลี่ยนแนวทางดำเนินการ เช่น โครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดนอกเหนือจากการพิจารณาเรื่องความพร้อมเพียงอย่างเดียว เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้รวดเร็ว