(เพิ่มเติม) คลังมั่นใจศก.ไทย Q4/52 ฟื้นตัวจาก Q3 เตรียมแถลงแนวโน้มปี 52-53 ในธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 27, 2009 11:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจการคลังในเดือนต.ค.52 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจไทยในเดือนแรกของไตรมาส 4/52 ฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 3/52 จากการปรับตัวดีขึ้นของทั้งการส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศ พร้อมกันนี้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจทั้งอัตราว่างงาน ทุนสำรองระหว่างประเทศ และฐานะทางการคลังอยู่ในภาวะที่แข็งแกร่ง

ทั้งนี้ การส่งออกในเดือนต.ค.52 ติดลบเพียง 3.0% จากที่เคยติดลบถึง 17.7% ต่อปีในไตรมาส 3/52 ส่วนเครื่องชี้การบริโภคจากภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนต.ค.52 ติดลบลดลงเหลือเพียง 7.0% จากที่เคยติดลบสูงกว่า 15.6% ในไตรมาส 3/52 ปัจจัยนี้แสดงถึงการฟื้นตัวของการส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน

ขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวและภาคเกษตรกรรมนั้นได้กลับมาขยายตัวเป็นบวกในเดือนต.ค. แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นในเดือนแรกของไตรมาส 4 นอกจากนั้น อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 1.2% ของกำลังแรงงานทั้งหมด ประกอบกับทุนสำรองระหว่างประเทศสูงกว่า 135,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง

"จากข้อมูลเครื่องชี้เศรษฐกิจดังกล่าว ทำให้ สศค. มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 จะสามารถขยายตัวได้ดีกว่าไตรมาส 3 โดยกระทรวงการคลัง จะได้มีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและแถลงผลประมาณการเศรษฐกิจสำหรับปี 52 และ 53 ในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม 52" นายเอกนิติ ระบุ

โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การบริโภคภาคเอกชนเดือนต.ค.นี้มีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT) ที่ติดลบน้อยลงมาอยู่ที่ 7.4% จากเดือนก่อนหน้าที่ติดลบ 9.6% บ่งชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งขยายตัวเป็นบวกติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทย เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนยังคงมีความเปราะบาง เห็นได้จากด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ที่อยู่ที่ระดับ 68.0 จุด ปรับตัวลดลงจากระดับ 68.4 จากเดือนก่อนหน้า ถือว่าเป็นการปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกหลังจากที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักมาจากความวิตกของราคาน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และความไม่แน่นอนทางการเมือง

ด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนต.ค.52 มีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับตัวดีขึ้น

สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างที่วัดจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน บ่งชี้การทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกันยายน 52 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าและขยายตัวเป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แสดงถึงการลงทุนภาคเอกชนในหมวดก่อสร้างที่ปรับตัวดีขึ้น

นายเอกนิติ กล่าวด้วยว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังเดือนต.ค.52 พบว่า รายจ่ายรัฐบาลเท่ากับ 90.3 พันล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -3.6 ต่อปี ทั้งนี้ การเบิกจ่ายอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติเป็นผลมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ ด้านรายได้จัดเก็บสุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น) จัดเก็บได้ 111.1 พันล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 21.5% เป็นผลมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เบียร์ ยาสูบ และสุรา ตั้งแต่พ.ค.52 ทั้งนี้ภาษีฐานรายได้ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า สอดคล้องกับการจ้างงานที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาษีฐานการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าเช่นกัน บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนต.ค.52 อยู่ที่ 1.2% ของกำลังแรงงานรวม ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค.ปรับตัวเป็นบวกมาอยู่ที่ 0.4% ทั้งนี้ระดับราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นจากปัจจัยฐานต่ำของการปรับลดราคาสาธารณูปโภคจากผลของ 5 มาตรการเพื่อลดค่าครองชีพแก่ประชาชนในช่วงปีก่อน

สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP)สิ้นก.ย.52 อยู่ที่ 45.5% ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกิน 50% สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศสิ้นเดือนต.ค.52 อยู่ในระดับสูงที่ 135.3 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นเกินกว่า 5 เท่า



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ