ธนาคารกลางของรัฐบาลกลางสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เปิดเผยว่า ธนาคารกลางจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ธนาคารภายในประเทศและธนาคารต่างชาติ ด้วยการประกาศจัดกองทุนกู้ยืมพิเศษเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับธนาคารพาณิชย์และเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลื่อนชำระหนี้ของบริษัท ดูไบ เวิล์ด ของรัฐบาลดูไบ นอกจากนี้ ธนาคารกลางยูเออีแสดงความเชื่อมั่นว่า ระบบการธนาคารของยูเออีมีความแข็งแกร่งและมีสภาพคล่องสูงกว่าปีที่แล้ว
รายงานระบุว่า เมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ธนาคารกลางยูเออีได้จัดหาวงเงินกู้มูลค่า 5 หมื่นล้านเดอร์แฮมให้กับธนาคารพาณิชย์ พร้อมกับรับประกันเงินฝากของสถาบันการเงินภายในประเทศทั้งแห่งและสถาบันการเงินต่างชาติบางแห่ง ซึ่งความเคลื่อนไหวในครั้งนั้นช่วยให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อระบบการเงินของยูเออีอย่างมาก และยังทำให้การตั้งงบประมาณเพื่อรองรับเงินกู้หนี้สูญของธนาคารในยูเออีพุ่งเป็น 2.76% ในเดือนต.ค.ที่ผ่านมา จากปีที่แล้วที่ระดับ 1.92%
นอกจากนี้มีรายงานว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาธนาคารกลางยูเออีได้เข้าซื้อพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลดูไบเป็นมูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์จากทั้งหมด 2 หมื่นล้านดอลลาร์ และเมื่อวันพุธที่ผ่านมา ธนาคาร 2 แห่งของอาบูดาบีได้ซื้อพันธบัตรดูไบอีก 5 พันล้านดอลลาร์
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นักลงทุนทั่วโลกตื่นตระหนกต่อข่าวที่ว่าบริษัท ดูไบ เวิลด์ ของรัฐบาลดูไบ ซึ่งมีหนี้สินรวม 5.9 หมื่นล้านดอลลาร์ วางแผนเลื่อนการชำระหนี้จำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์ซึ่งครบกำหนดในเดือนธ.ค.ที่จะถึงนี้ ออกไปเป็นเดือนพ.ค.ปีหน้า ซึ่งถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่สุดในรอบ 8 ปี หลังจากในปีพ.ศ.2544 รัฐบาลอาร์เจนติน่าเคยตกที่นั่งผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่มาแล้ว
ความเคลื่อนไหวในด้านลบของของรัฐบาลดูไบในครั้งนี้ได้สร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนทั่วโลก โดยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (27 พ.ย.) ดัชนีดาวโจนส์ปิดร่วงลง 154.48 จุด หรือ 1.48% แตะที่ 10,309.92 จุด ซึ่งสาเหตุที่ทำให้นักลงทุนวิตกกังวลกับข่าวดังกล่าวก็เพราะทรัพย์สินของดูไบ เวิลด์ ครอบคลุมถึงหุ้นในบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วโลก ตั้งแต่บริษัท เอ็มจีเอ็ม มิราจ ซึ่งเป็นบริษัทคาสิโนในลาสเวกัส ไปจนถึงธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด, บริษัทค้าปลีกระดับหรูอย่าง บาร์นียส์ นิวยอร์ก และบริษัท อิสทิธมาร์ พีเจเอสซี ซึ่งเป็นบริษัทจัดการสินทรัพย์ชื่อดังระดับโลก นอกจากนี้ ธนาคารที่เป็นเจ้าหนี้ดูไบ เวิลด์ รวมถึงธนาคาร HSBC, ธนาคารลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป, ธนาคารรอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ และธนาคารบาร์เคลย์ส