TMB คาดศก.ไทยปี 53 โต 3.2% แต่ยังมีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวศก.โลก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 30, 2009 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารทหารไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 53 จะขยายตัวได้ในอัตรา 3.2% พลิกฟื้นจากในปีนี้ที่คาดว่าจะหดตัวราว 3% โดยบทบาทและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สร้างความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงการส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อจากนี้

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวจากภาวะวิกฤติเต็มที่ยังคงเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตา โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 53 จะเผชิญ 4 ปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ภาวะเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น จากฐานราคาที่ต่ำในปี 52 ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับ 75-85 ดอลลาร์/บาเรล และสภาพคล่องส่วนเกินจากการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางทั่วโลก จะส่งผลกดดันให้ธนาคารกลางปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างเข้มแข็งเพียงพอ

ปัจจัยที่สอง เกิดจากการปรับตัวในดุลยภาพของตลาดแรงงานกลุ่มประเทศตะวันตก ส่งผลให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นและค่าจ้างที่มีระดับต่ำลง ซึ่งทำให้การบริโภคภาคเอกชนจะยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว ปัจจัยที่สาม คือ ความเสี่ยงจากการผ่อนปรนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควรและไม่เป็นระบบระหว่างประเทศในกลุ่ม G20 ซึ่งเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เพื่อทดแทนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังชะลอตัวจากอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงการตึงตัวของตลาดสินเชื่อ อย่างเช่นในสหรัฐฯ และอังกฤษ

และสุดท้ายคือธุรกรรม Carry Trade ในตลาดการเงินระหว่างประเทศที่ต้องจับตา โดยการลงทุนเพื่อสร้างกำไรจากส่วนต่างในดอกเบี้ย จากการกู้ในเงินสกุลที่มีดอกเบี้ยต่ำ แล้วนำไปลงทุนในเงินสกุลที่มีดอกเบี้ยสูงกว่า ซึ่งเป็นแรงผลักดันการเคลื่อนย้ายเงินทุนเพื่อเก็งกำไร ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มขึ้นในแถบเอเชียและละตินอเมริกา โดยปัจจุบันสภาพคล่องที่มีอยู่ล้นเหลือและโอกาสการลงทุนที่น้อยในประเทศพัฒนาแล้ว เป็นตัวขับเคลื่อนเงินทุน ประกอบกับ เฟดคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ แต่ในทางกลับกันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับตัวสูงขึ้นในประเทศต่างๆ จะส่งผลให้ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยขยายกว้างมากขึ้น

TMB Research มองว่า ในอนาคตอันใกล้ การทำ carry trade มีโอกาสจะขยายตัวต่อเนื่องมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพาะสภาวะฟองสบู่ในอนาคต อีกทั้งปริมาณของธุรกรรมจะใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ตามขนาดของภาคการเงินในสหรัฐที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของโลกและสามารถดึงดูดนักลงทุนมาได้จากทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกันนโยบายการเงินที่ต้องการรักษาอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำของสหรัฐฯ จะเร่งการเก็งกำไรให้มากขึ้น ประกอบกับ การขึ้นดอกเบี้ยของเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่ก็ยิ่งดึงดูดให้เกิดการทำ carry trade มากขึ้นตามไปด้วย

และผลกระทบจากการถอนการลงทุนกลับในทันทีจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์และอัตราแลกเปลี่ยนตกลงอย่างรุนแรง ตลาดการเงินจะเผชิญกับความผันผวนจากจำนวนเงินมหาศาลที่จะถูกเคลื่อนย้ายอีกครั้ง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ