นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เปิดเผยว่า การก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียในประเทศไทยควรจัดทำเป็นนโยบายระดับชาติ ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและรัฐสภา เพราะหากไม่เตรียมการเพื่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาค่าไฟฟ้าที่มีราคาแพงในอนาคต และยังก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากขึ้น
นอกจากนั้น ขณะนี้หลายประเทศได้ผลักดันการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ด้วยการกำหนดเป็นนโยบายแห่งชาติแล้ว เช่น เวียดนาม ที่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ผ่านร่างกฎหมายนิวเคลียร์ โดยมีมติให้สร้างเตาปฏิกรณ์ขึ้น 4 โรงในพื้นที่ 2 แห่ง รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,000 เมกะวัตต์
สำหรับตามแผนพัฒนาไฟฟ้าของประเทศขณะนี้ได้พิจารณาทุกแนวทางทั้งโครงการลดการใช้หรือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การใช้พลังงานทดแทนรูปแบบต่าง ๆ รวมไปถึงเชื้อเพลิงหลักต่าง ๆ ทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน นิวเคลียร์ และการรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งต้องยอมรับว่าเมื่อเศรษฐกิจของประเทศเติบโตการใช้พลังงานไฟฟ้าก็จะเพิ่มขึ้นไปด้วย
ปัจจุบัน ไทยพึ่งพาก๊าซธรรมชาติถึง 75% จึงจำเป็นต้องหาเชื้อเพลิงอื่น ๆ เข้ามาลดความเสี่ยง ซึ่งตามแผนจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์ขนาดประเภทละ 2,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนของถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สร้างภาวะโลกร้อน หากลงทุนจะต้องมีการลงทุนเทคโนโลยีอัดกลับคาร์บอนลงไปในดินด้วย ต้นทุนจะสูงมากถึง 2.50 บาท/หน่วย ในขณะที่พลังงานนิวเคลียร์ไม่ปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกมา ต้นทุนต่ำกว่า โดยรวมแล้วอยู่ที่ประมาณ 2.08 บาท/หน่วยหรืออาจจะสูงกว่านั้นหากค่าก่อสร้างสูงขึ้น