นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์คาดว่าภาคเกษตรของไทยในปีหน้าเติบโตเพิ่มขึ้น 3-5% จากปีนี้ โดยนักเศรษฐศาสตร์ได้วิเคราะห์แนวโน้มราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ๆ ของไทย เช่น ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย ในปีหน้าจะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% หรือเฉลี่ย 15%
ประกอบกับ ได้มีการประเมินสภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ ขณะนี้มีปริมาณน้ำต้นทุนรวม 58,554 ล้าน ลบ.ม.หรือ คิดเป็น 80% ของความจุ โดยได้รับผลดีจากพายุกฤษณาที่ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยกว่าปริมาณน้ำต้นทุนในปีที่ผ่านมา
ดังนั้น กระทรวงเกษตรฯ จึงกำหนดพื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งทั้งสิ้น 12.28 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.5 ล้านไร่ แบ่งเป็นในเขตชลประทาน 7.5 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่, พืชไร่-ผัก 2.78 ล้านไร่ แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 0.78 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2 ล้านไร่ คาดว่ามูลค่าผลผลิตรวมประมาณ 89,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าวนาปรัง 74,000 ล้านบาท พืชไร่ 9,000 ล้านบาท และพืชผัก 6,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้เตรียมการด้านการผลิตข้าว และมันสำปะหลัง ซึ่งคาดว่าจะมีราคาสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรปลูกพืชดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น เบื้องต้นได้ดำเนินงานตามแผนการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งกำหนดเป้าหมายการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศในปี 52/53 โดยเฉพาะข้าวอย่างใกล้ชิด ควบคู่ไปกับการแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง การดำเนินการทั้งหมดจะเร่งรัดให้มีความต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต รวมถึงราคาข้าวและมันสำปะหลังในรอบปีที่มีการผลิตและมีราคาสูงในปีนี้
นายธีระ กล่าวต่อว่า สำหรับผลผลิตมันสำปะหลังปี 52/53 มีแนวโน้มลดลง 25-30% หรือมีหัวมันสดเหลือเพียง 20 ล้านตัน จากที่คาดว่าจะมีผลผลิต 27.7 ล้านตัน ซึ่งเป็นผลจากการระบาดหนักของเพลี้ยแป้ง ทำให้ราคาหัวมันสดปรับตัวสูงสุดในรอบ 12 ปี นับจากปี 40 โดยอยู่ที่ กก.ละ 2.25 บาท สูงกว่าราคาประกันรายได้และราคารับจำนำ
นอกจากนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัดจัดทำ “โครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง" ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาเพลี้ยแป้งอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมการระบาดไม่ให้แพร่ไปยังพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังอื่นๆ รวมถึงป้องกันปัญหาขาดแคลนท่อนพันธุ์คุณภาพ และการประมาณการผลผลิตมันสำปะหลัง อีกทั้งกำหนดให้มีหน่วยงานรับผิดชอบขั้นตอนต่างๆ ในระยะยาว เพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ราคาดี