(เพิ่มเติม) พาณิชย์ เผย CPI เดือน พ.ย.52 เพิ่มขึ้น 1.9%,Core CPI เพิ่มขึ้น 0.1%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 1, 2009 11:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยรรยง พวงราช ปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป(CPI) ในเดือน พ.ย.52 อยู่ที่ 105.2 เพิ่มขึ้น 1.9% จากเดือน พ.ย.51 และเพิ่มขึ้น 0.3% จากเดือน ต.ค.52 ส่วน CPI เฉลี่ยช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ย.52) ลดลง 1.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) ไม่รวมหมวดสินค้าอาหารสดและพลังงานในเดือน พ.ย.52 อยู่ที่ระดับ 102.7 เพิ่มขึ้น 0.1% จากเดือน พ.ย.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ต.ค.52 และ Core CPI เฉลี่ยช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-พ.ย.52) เพิ่มขึ้น 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่มในเดือน พ.ย.52 อยู่ที่ 117.9 เพิ่มขึ้น 0.6% จากเดือน พ.ย.51 แต่ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือน ต.ค.52 ขณะที่ดัชนีหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มอยู่ที่ 97.9 เพิ่มขึ้น 0.4% จากเดือน พ.ย.51 และเพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือน ต.ค.52

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า CPI เดือนพ.ย.52 ที่ปรับสูงขึ้น 1.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น เป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง สะท้อนให้เห็นถึงการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้น

"อัตราเงินเฟ้อดีขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง ชี้ให้เห็นว่าเศรษฐกิจจากภาคการบริโภคเริ่มฟื้นตัวขึ้น การบริโภคที่เกิดจากความเชื่อมั่นเพิ่มเติมจากเดือนก่อน เพราะเดือน ต.ค.52 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 0.4% แต่เดือนนี้เพิ่มขึ้นถึง 1.9%" ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ระบุ

ทั้งนี้ ค่าครองชีพของประชาชนในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมา ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ถึงแม้ราคาสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับ มาตรการช่วยค่าครองชีพทำให้รายจ่ายของประชาชนลดลง

ด้านการจับจ่ายใช้สอยนั้น จากภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติจะทำให้การจ้างงานเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประชาชนเริ่มมีความรู้สึกมั่นใจในรายได้ของตนเองมากขึ้น และกล้าจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ขณะที่ด้านของผู้ผลิตก็มีแรงจูงใจผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการจ้างงานหรือเพิ่มชั่วโมงการทำงานมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม การที่ภาวะเงินเฟ้อและเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจอื่นๆ ได้ชี้ให้เห็นการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รัฐบาลควรถือโอกาสนี้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และลควรดูแลการเบิกจ่ายงบประมาณตามนโยบายไทยเข้มแข็งให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไหลลื่น ส่งผลให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่สะดุดลง

นายยรรยง มองว่า จากที่ช่วงจังหวะนี้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับการเกื้อหนุนให้ภาวะเศรษฐกิจมีการเติบโต จึงคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) น่าจะยังคงรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับนี้ไว้ และช่วงไตรมาส 1/53 เมื่อภาวะเงินเฟ้อเริ่มปรับตัวขึ้นแล้ว ธปท.จึงค่อยปรับอัตราดอกเบี้ยต่อไป

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั้งปี 52 คาดว่าจะอยู่ในกรอบ -1 ถึง 0% หรือเฉลี่ยอยู่ที่ -0.8% ส่วนปี 53 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.0-3.5% จากปีนี้ โดยอยู่ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 53 ที่ 70-80 ดอลลาร์/บาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31-33 บาท/ดอลลาร์ และรัฐบาลยังคงต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพให้แก่ประชาชน

ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐานแม้ปีหน้าแนวโน้มเศรษฐกิจจะเริ่มปรับตัวดีขึ้น ผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอาจปรับตัวสูงขึ้นบ้างนั้น แต่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีหน้าจะไม่หลุดไปจากกรอบที่ธนาคารแห่งประเทศ(ธปท.)ตั้งเป้าไว้ 0.5-3.0% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้มอบนโยบายให้กรมการค้าภายใน และสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้าออกสำรวจราคาสินค้าร่วมกัน เพื่อติดตามดูสถานการณ์ราคาสินค้า หากพบสัญญาณที่ผิดปกติจะได้เข้าไปดูแลสินค้ารายการนั้นเป็นพิเศษ

"คาดว่าจะไม่หลุดจากกรอบของแบงก์ชาติที่ 0.5-3% เพราะแบงก์ชาติค่อนข้างมองในแง่ร้ายมากกว่าเรา เรามองตามความเป็นจริง ทางแบงก์ชาติมองในแง่มหภาค แต่เราเป็นคนคุม(เงินเฟ้อ) ซึ่งจะพยายามให้อยู่ในกรอบนี้" นายยรรยง ระบุ

อย่างไรก็ดี ตั้งแต่เดือน ม.ค.53 เป็นต้นไป กระทรวงพาณิชย์จะปรับรูปแบบการเผยแพร่ดัชนี CPI จากทศนิยม 1 ตำแหน่ง เป็น 2 ตำแหน่ง เพื่อให้เกิดความละเอียดมากขึ้นในการที่แต่ละหน่วยงานจะนำไปใช้เป็นเครื่องมือชี้วัดทางเศรษฐกิจ



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ