ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า วงการค้าข้าวคาดหมายปี 53 จะเป็นปีทองของข้าวไทย เนื่องจากปริมาณการผลิตข้าวในตลาดโลกลดลงจากผลกระทบสภาพอากาศแปรปรวน ความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้นทั้งจากฟิลิปปินส์ที่ผลผลิตข้าวได้รับความเสียหายจากลมมรสุม ส่วนอินเดียประสบปัญหาความแห้งแล้ง ทำให้ต้องพลิกกลับจากการเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวอันดับ 4 ของโลกไปเป็นประเทศผู้นำเข้าข้าว ขณะที่ปริมาณการผลิตข้าวของไทยในปีหน้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะสามารถส่งออกข้าวได้มากขึ้น
"ปี 53 นับเป็นโอกาสดีของผู้ที่เกี่ยวข้องในวงการค้าข้าวของไทย เนื่องจากคาดการณ์ว่าราคาข้าวจะกลับมาเป็นช่วงขาขึ้นอีกครั้ง แม้จะไม่ได้พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับในปี 51 แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปัจจัยทางด้านผลผลิตข้าวที่ลดลงจากความผันแปรของสภาพอากาศ ทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่ต้องจับตามองต่อไปอย่างใกล้ชิด คือ ความผันผวนของราคา" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ในปี 53 คาดว่าฟิลิปปินส์ต้องนำเข้าข้าวมากถึง 2.05 ล้านตัน ซึ่งเปิดประมูล 4 รอบช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.52 กำหนดส่งมอบช่วงครึ่งแรกของปี แต่ผู้ส่งออกข้าวของไทยอาจไม่ได้รับอานิสงส์ครั้งนี้เนื่องจากไม่สามารถประมูลแข่งกับเวียดนามได้ อย่างไรก็ตาม มีประเด็นต้องติดตามคือไทยกำลังเจรจากับฟิลิปปินส์เพื่อขอชดเชยกรณีไม่ลดภาษีนำเข้าข้าวตามกรอบอาฟตา ส่งผลให้ไทยมีโอกาสส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น รวมทั้งติดตามปริมาณการผลิตข้าวของเวียดนามที่ต้องเก็บไว้รองรับความต้องการบริโภคในประเทศ
ส่วนอินเดียคาดการณ์ว่า จะนำเข้าข้าว 2 แสนตัน ภายในปี 52 และในปี 53 จะนำเข้าข้าวอีก 2 แสนตัน ซึ่งอาจต้องเร่งนำเข้าข้าวตั้งแต่ช่วงต้นปี 53 เนื่องจากคาดการณ์ราคาข้าวในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ผู้ส่งออกข้าวของไทยมีโอกาสในการส่งออกข้าวไปยังอินเดียในปี 53 แต่ต้องเผชิญการแข่งขันจากเวียดนามและปากีสถาน
ผลผลิตข้าวที่จะได้รับอานิสงส์ครั้งนี้ คือ ข้าวหอมมะลิ ข้าวนึ่ง ปลายข้าว และข้าวเหนียว ส่วนข้าวขาวนั้นแม้จะมีโอกาสในการส่งออกเพิ่มขึ้นแต่ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนาม และในภาพรวมอาจต้องเผชิญความเสี่ยงจากราคาข้าวที่อาจจะผันผวนจากสภาพอากาศที่แปรปรวน และการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาลของทั้งประเทศที่ส่งออกและนำเข้าข้าว
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ คาดการณ์ผลผลิตข้าวในตลาดโลกในปี 52/53 อยู่ที่ 432.1 ล้านตันข้าวสาร ลดลง 3.1% จากปีก่อน เนื่องจากอินเดียจะมีผลผลิตข้าวลดลง 19.3% จากปัญหาแห้งแล้ง ทำให้ต้องประกาศงดส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบัสมาติต่อเนื่องจากปี 51 และยังประกาศจะนำเข้าข้าวด้วย และคาดการณ์สต็อกข้าวของโลกในปี 53 ลดลงเหลือ 85.9 ล้านตัน ลดลง 5% จากปีก่อน ซึ่งนับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี
ส่วนเวียดนามคาดว่าผลผลิตข้าวในปี 52/53 จะลดลงเล็กน้อยเหลือ 23.80 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลง 2.65 จากปีก่อน เนื่องจากเนื้อที่ปลูกข้าวบางส่วนได้รับความเสียหายจากภาวะน้ำท่วม ขณะที่ไทยคาดว่าผลผลิตข้าวในปี 52/53 ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 20.0 ล้านตันข้าวสาร หรือเพิ่มขึ้น 3.1% จากปีก่อน
"ปรากฎการณ์เอลนิโนส่งผลให้สภาพอากาศแห้งแล้ง อาจสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตข้าวมากขึ้น ทั้งในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สหรัฐฯ และลาตินอเมริกา โดยเฉพาะบราซิลและเวเนซูเอลา ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผลผลิตข้าวของโลกโดยรวมมีแนวโน้มลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สำหรับปริมาณการผลิตข้าวของประเทศรายเล็กที่น่าจับตามอง คือ พม่าและกัมพูชา โดยพม่าคาดว่าในปี 52/53 ปริมาณการผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 10.73 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 5.7% จากปีก่อน เนื่องจากได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลกเพื่อการพัฒนาระบบชลประทาน ส่วนกัมพูชาคาดว่าปริมาณการผลิตในปี 52/53 จะเพิ่มขึ้นเป็น 4.63 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2.4% จากปีก่อน เนื่องจากได้รับความร่วมมือจากเวียดนามในการพัฒนาข้าว รวมทั้งยังได้รับเงินทุนจากคูเวต ทำให้คาดการณ์ว่าทั้งพม่าและกัมพูชามีแนวโน้มที่จะขยายปริมาณการผลิตข้าวตอบสนองต่อราคาข้าวที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 53
โดยการค้าข้าวในตลาดโลกในปี 52/53 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับ 29.54 ล้านตันข้าวสาร เพิ่มขึ้น 4.4% จากปีก่อน ซึ่งเป็นการกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมาการค้าข้าวในตลาดโลกหดตัวอย่างต่อเนื่อง โดยปีหน้าทิศทางการค้าข้าวจะหวนกลับมาเป็นตลาดของผู้ส่งออกอีกครั้งเช่นเดียวกับปี 51 เนื่องจากความต้องการข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้วงการค้าข้าวคาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปลายปี 52 ไปจนถึงอย่างน้อยช่วงกลางปี 53
อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาข้าวในตลาดโลกไม่น่าจะเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์เช่นเดียวกับในปี 51 เนื่องจากราคาน้ำมันไม่น่าจะสูงไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์/ต่อบาเรล
สถานการณ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับหนึ่งของโลก คาดว่าในปี 53 ปริมาณการส่งออกข้าวจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 51 ที่ 10 ล้านตัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงเป็นประวัติการณ์ หรืออาจจะเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ในกรณีที่รัฐบาลและผู้ส่งออกข้าวของไทยประสบความสำเร็จในการเจาะขยายตลาดข้าว ซึ่งน่าจะส่งผลให้ราคาข้าวในประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามราคาข้าวในตลาดโลก
"แม้ว่าจะเป็นโอกาสดีในการส่งออกข้าว แต่คาดว่าผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากเวียดนามเช่นเดียวกับในปี 52" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ส่วนเวียดนามซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับสองของโลก ได้งดทำสัญญาส่งออกข้าวในช่วงไตรมาสสองของปี 52 เนื่องจากปริมาณการส่งออกในช่วงไตรมาสแรกเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว และเพื่อรอดูสถานการณ์ราคาข้าว โดยเวียดนามเซ็นสัญญาส่งออกไปแล้ว 6.45 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 55% จากปีก่อน ซึ่งแย่งส่วนแบ่งตลาดข้าวขาวจากไทยโดยอาศัยกลยุทธ์ด้านราคา ซึ่งเกือบตลอดทั้งปีนี้ราคาข้าวทั้งหมดเฉลี่ยของเวียดนามต่ำกว่าไทยประมาณ 100-200 ดอลลาร์/ต่อตัน
"ปริมาณสต็อกข้าวที่อยู่ในระดับสูง(4 ล้านตัน)นั้นจะเป็นปัจจัยที่ประเทศผู้นำเข้าข้าวใช้ในการต่อรองราคาซื้อขายข้าว รวมทั้งรัฐบาลต้องระมัดระวังในการระบายสต็อกข้าว เนื่องจากส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาต่อราคาข้าว แต่การที่ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นนับเป็นโอกาสอันดีของรัฐบาลในการทยอยระบายสต็อกข้าว โดยเฉพาะการเจรจาซื้อขายในลักษณะรัฐบาลต่อรัฐบาล" เอกสารเผยแพร่ ระบุ