ฟิทช์ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารไทยขนาดใหญ่เป็นมีเสถียรภาพ

ข่าวต่างประเทศ Tuesday December 1, 2009 12:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศปรับแนวโน้มอันดับเครดิตสากลของธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ธนาคารไทยพาณิชย์จำกัด (มหาชน) (SCB) ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (BAY) เป็นมีเสถียรภาพ จากเดิมที่ให้แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ ส่วนธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ยังคงมีแนวโน้มอันดับเครดิตสากลเป็นลบ

ฟิทช์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงแนวโน้มอันดับเครดิตสากลสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของธนาคารทั้ง 4 แห่งในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 แม้ว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ของประเทศไทยจะติดลบ แต่อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อสินทรัพย์ (ROA) รวมของธนาคารทั้ง 4 แห่ง ลดลงเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.26% ในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552 จาก 1.32% ในปี 2551 ซึ่งสูงกว่าระดับที่ฟิทช์คาดการณ์ไว้เมื่อตอนต้นปี เนื่องจากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย แม้ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อได้ลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ฟิทช์คาดว่าธนาคารเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงในด้านการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่อาจเพิ่มขึ้นในอีก 6-12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่จะตามมาภายหลัง รวมทั้งสินเชื่อปรับโครงสร้างที่มีโอกาสกลับมาเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สูงขึ้น แต่ทั้งนี้คาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารทั้ง 4 แห่ง น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ในขณะเดียวกัน TMB ยังคงมีผลการดำเนินงานที่ไม่ดีนัก เนื่องจากคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอและการลดลงอย่างมากของสินเชื่อ ธนาคารมีกำไรสุทธิเพียงเล็กน้อยในช่วง 9 เดือนแรกปี 2552

นอกจากนี้ การลดลงของคุณภาพสินทรัพย์สำหรับธนาคารทั้ง 4 แห่ง อยู่ในระดับที่ควบคุมได้ โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายรวมของ 4 ธนาคารเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 5.8% ของสินเชื่อรวม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 จาก 5.5% ณ สิ้นปี 2551 อย่างไรก็ตามธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในด้านคุณภาพสินทรัพย์ เนื่องจากยอดสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไทยได้เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2551 ซึ่งอาจทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของไทยจะเริ่มปรับตัวมีเสถียรภาพมากขึ้น ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอยู่ในระดับที่อ่อนแอ และอาจส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวสูงในปีหน้า เนื่องจากอาจจะต้องใช้ระยะเวลาหนึ่ง กว่าจะเห็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นที่มีต่อคุณภาพสินทรัพย์

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F3’

- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับเครดิตที่ ‘C/D’

- อันดับเครดิตสนับสนุน คงอันดับที่ ‘3’

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘BB+’

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุน

ชั้นที่ 1 (Tier 1 hybrid) คงอันดับเครดิตที่ ‘B’

- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ คงอันดับเครดิตที่ ‘BB+’

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ / แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับเครดิตที่ ‘F1(tha)’

- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ คงอันดับเครดิตที่ ‘A(tha)’



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ