นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)คาดว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้จะตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย(อาร์/พี)ไว้ในระดับ 1.25% โดยเชื่อว่า กนง.จะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2/53 ค่อนไปถึงครึ่งหลังของปี และทั้งปี 53 จะปรับขึ้นในช่วง 0.5-0.75%
ทั้งนี้ หากประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีในระยะเวลาดังกล่าว ก็เป็นไปได้ที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก่อนหน้านั้น เพราะธนาคารพาณิชย์จะมองแนวโน้มการแข่งขันไปก่อนล่วงหน้า โดยหากดอกเบี้ยอาร์พีปรับขึ้นในช่วง 0.5-0.75% อัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็น่าจะขึ้นไม่น้อยกว่า 0.75% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยังต้องขึ้นกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและภาวะการแข่งขัน
"บอกไม่ได้ว่าจะปรับขึ้นเท่าไหร่ ดอกเบี้ยฝากตอนนี้ยังไม่มีการแข่งขันแบบมีนัยยะสำคัญ แต่ละแบงก์ก็ต่างกันแต่ละแบบ ตามสภาพคล่องพูดชัดเจนตอนนี้ไม่ได้" นายประสาร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราเงินเฟ้อขณะนี้ แม้ว่าในเดือน พ.ย.52 จะเร่งตัวขึ้นมาเป็นบวกมากขึ้นที่ 1.9% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ เนื่องจากไม่ได้เกิดจากอุปสงค์เร่งตัวขึ้น สะท้อนการบริโภคทั่วไปยังฟื้นตัวไม่แข็งแรง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังไม่ต่อเนื่องมาก นอกจากนี้ต้องดูว่าการยกเลิกหรือลดระดับของมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชนจะเป็นแรงกดดันให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวเร็วกว่าที่คาดหรือไม่
นายประสาร กล่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงไม่อยากทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบมากๆ และต้องติดตามดอกเบี้ยต่างประเทศด้วยที่แม้ตอนนี้จะอยู่ในระดับต่ำ แต่ก็เริ่มขยับขึ้นแล้ว ซึ่งปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของไทยต่ำมาก ซึ่งเป็นภาวะความจำเป็นตามสภาพเศรษฐกิจ แต่ถ้าเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวปกติก็น่าจะมีการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25%
"การใช้ดอกเบี้ยต่ำเป็นระยะนานอาจเกิดภาวะฟองสบู่ได้ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นสัญญาณฟองสบู่เลย ดังนั้นจะต้องหาความสมดุลกับเศรษฐกิจที่ถดถอยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าขึ้นดอกเบี้ยเร็วไปอาจจะเกิดผลเสีย แต่ถ้าผ่อนคลายนานๆ ไปเรื่อยๆ ก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น คือ ทางด้านเงินเฟ้อและการจัดสรรทรัพยากร ถือเป็นโจทย์ท้าทายของธปท." นายประสาร กล่าว