คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในวันนี้มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.25% ต่อปี เนื่องจากเห็นว่ายังอยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป
นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจการเงินโลกปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากการประชุมครั้งก่อน ตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G3) และกลุ่มประเทศเอเชียออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดไว้
แต่การฟื้นตัวยังจำเป็นต้องพึ่งพาการสนับสนุนด้านนโยบายต่อไป ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อโลกขณะนี้ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไปยังมีอยู่ ซึ่งควรต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
เศรษฐกิจของไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 และเดือน ต.ค.52 ชี้ว่าเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงเล็กน้อยจากช่วงก่อนหน้า โดยการฟื้นตัวมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ เช่น คำสั่งซื้อสินค้าทั้งจากในและต่างประเทศ ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ รายได้ภาคเกษตรภาวะการจ้างงานและการท่องเที่ยวที่ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการฯ ประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และยังจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านนโยบายต่อไป
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เริ่มปรับตัวเป็นบวกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากติดลบมาตั้งแต่ช่วงต้นปี 52 โดยเป็นผลจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่เป็นช่วงที่ราคาลดลงมามาก อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในระดับใกล้ศูนย์ คณะกรรมการฯ จึงประเมินว่าแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อในขณะนี้ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ แต่จะติดตามดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป
"ถ้าดูแรงกดดันต่อภาวะเงินฟ้อต่อไปที่เกิดจากแรงกดดันด้านดีมานด์ยังไม่มี เพราะอุปสงค์ยังเร่งตัวไม่มาก กนง.จึงไม่ได้มีความกังวลในขณะนี้"นายไพบูลย์ กล่าว
ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือน พ.ย.ที่เป็นบวก 1.9% สูงกว่าเดือน ต.ค.ที่อยู่ในระดับ บวก 0.4% ซึ่งตรงนี้ชัดเจนมากว่า เป็นผลมาจากแรงกดดันจากราคาน้ำมันเป็นหลัก ซึ่งราคาน้ำมันเร่งขึ้นมาที่ 75 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่ พ.ย.51 ราคาน้ำมันอยู่ที่ 45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หากเทียบกันปีต่อปีแล้วจะมีผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
นายไพบูลย์ แต่ประเมินว่าเงินเฟ้อในเดือน ธ.ค.จะเร่งสูงกว่าเดือน พ.ย. เนื่องจากราคาน้ำมันในเดือนธ.ค.51 ต่ำมาก อยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลเท่านั้น ก็จะทำให้แรงกดดันเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่สิ่งที่ กนง.จะติดตามคือ แรงกดดันต่ออุปสงค์ที่จะดันเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นมากกว่า
สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยต่อไปก็ต้องดูว่าความจำเป็นในการใช้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษจำเป็นต่อเศรษฐกิจหรือไม่ ซึ่งจะประมินตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้น โดยปัจจัยหลักจะดูว่าการบริโภคและการลงทุนเอกชนสามารถที่จะผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจได้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ขยายตัว 1-2 เดือนแล้วสะดุด ซึ่ง กนง.ต้องสามารถมั่นใจได้ว่าเศรษฐกิจมั่นคง แข็งแรง ซึ่งถึงเวลานั้นดอกเบี้ยควรจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติ
ขณะเดียวกัน กนง.ยังไม่เห็นสัญญาณที่จะบ่งชี้ภาวะฟองสบู่ทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้น แม้ว่าหลายประเทศในภูมิภาคเริ่มกังวลต่อการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของราคาที่อยู่อาศัย เช่น เกาหลี สิงคโปร์ และ ฮ่องกง และได้ใช้มาตรการลดความร้อนแรงของตลาดอสังหาฯ ไปแล้ว
ในระยะต่อไปเงินทุนจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G3) และสหรัฐ ซึ่งดอกเบี้ยต่ำ จะมีการกู้เงินดอกเบี้ยถูกแล้วนำมาลงทุนในสินทรัพย์ โภคภัณฑ์ น้ำมัน ทองคำ และอสังหาฯ ในประเทศอื่น รวมทั้งเอเชีย ในอนาคตก็จะทำให้ภาวะเงินทุนเคลื่อนย้ายเกิดความผันผวนอย่างมาก และเงินไหลเข้าเอเชียซึ่งมีผลตอบแทนการลงทุนสูงกว่า และเมื่อเงินลงทุนเหล่านี้ไหลกลับราคาอสังฯที่เคยแพงจะถูกลงและกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งธปท.จะจับตาการเคลื่อนย้ายของเงินทุนว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและอัตราแลกเปลี่ยนของไทยหรือไม่
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.ได้ประเมินว่าหาก 76 โครงการถูกระงับจะกระทบต่อบรรยากาศการลงทุน และจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ(GDP) ประมาณ 0.2%
ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณไทยเข้มแข็งที่ล่าช้า รัฐบาลควรจะเร่งรัดการเบิกจ่ายให้เป็นไปตามงบประมาณ เพราะว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องการความต่อเนื่องของมาตรการทั้งมาตรการการเงินและการคลัง
ขณะที่การลดค่าเงินดองของเวียดนาม ไม่ได้มีผลกระทบต่อนโยบายของไทย ไม่ว่าจะเป็นการเงิน อัตราแลกเปลี่ยน หรือ การส่งออก