ธนาคารโลกชี้วิกฤตการเงินโลกส่งผลกระทบต่อภาคครัวเรือนในยุโรป-เอเชียกลาง

ข่าวต่างประเทศ Thursday December 3, 2009 09:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลกชี้วิกฤตการเงินโลกกำลังส่งผลกระทบเลวร้ายต่อหลายครัวเรือนในยุโรปและเอเชีย อีกทั้งยังสร้างความเสี่ยงต่อการขจัดปัญหาความยากไร้ในทวีปดังกล่าวตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

สำนักข่าวซินหัวรายงานอ้างการผลการศึกษาในหัวข้อ The Crisis Hits Home ที่จัดทำโดยธนาคารโลก ซึ่งระบุว่า ภายในปี 2553 อาจมีประชากรกว่า 10 ล้านคนเผชิญกับความแร้นแค้นมากขึ้นในทวีปดังกล่าว ซึ่งเกือบ 25 ล้านรายที่เป็นครอบครัวชนชั้นกลางจะประสบปัญหาการถูกยึดบ้าน ตกงาน และไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานได้

โดยรายงานดังกล่าวได้มุ่งเน้นทำการศึกษาระดับครัวเรือนในทวีปยุโรปและเอเชียกลาง โดยมองถึงผลกระทบของวิกฤตการเงินโลกที่มีต่อแต่ละครอบครัว ซึ่งหลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากวิกฤตตลาดสินเชื่อ ค่าครองชีพที่แพงขึ้น และอัตราว่างงานที่สูงขึ้น

ลูก้า บาร์โบน ผู้อำนวยการฝ่ายการจัดการเศรษฐกิจและบรรเทาความยากจนประจำทวีปยุโรปและเอเชียกลางของธนาคารโลกกล่าวว่า วิกฤตการเงินโลกได้ส่งผลกระทบต่อมาตรฐานการครองชีพของประชาชนในยุโรปและเอเชียกลางในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

"หนึ่งในผลกระทบที่เลวร้ายของวิกฤตการเงินคือ ประเทศที่มีรายได้ในระดับกลางเริ่มอยู่ในจุดที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ซึ่งทุกประเทศในทวีปมีตัวเลขว่างงานที่เพิ่มขึ้น ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจลดน้อยลง ดังนั้น ปัญหาความยากจนถึงตามมา" บาร์โบนระบุ

นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังระบุถึงการผลทดสอบสถานะทางการเงินในส่วนของเงินกู้ภาคครัวเรือนที่จัดทำโดยธนาคารโลกซึ่งระบุว่า วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน และรายได้ภาคครัวเรือนที่อาจทำให้หลายครัวครอบไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้สินได้ โดย 20% ของครอบครัวส่วนใหญ่ในลิธัวเนียและฮังการีได้กู้เงินจำนองบ้านและมีหนี้สินอื่นๆซึ่งบุคคลกลุ่มนี้มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้อยู่สูง

ขณะเดียวกัน วิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงานอาจยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อพิจารณาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ไม่เคยกลับไปเท่ากับระดับเมื่อช่วงก่อนปี 2550 ซึ่งสถานการณ์ทางการเศรษฐกิจทั่วโลกที่เลวร้ายกำลังบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในทวีปยุโรปและเอเชียกลาง และส่งผลต่อตัวเลขคาดการณ์ด้านความยากไร้ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบเลวร้ายต่อความเป็นอยู่ของประชากรราว 160 ล้านคน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ