ภาคเอกชนคาดปี 53 ยอดส่งออกอาหารทะลุ 7.9 แสนลบ.ขยายตัว 7.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2009 11:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมร งามมงคลรัตน์ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร คาดแนวโน้มการส่งออกอาหารในปี 53 จะค่อยๆ ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจโลก โดยขยายตัว 7.5% จากปีนี้ หรือมีมูลค่า 7.93 แสนล้านบาท ขณะที่ความต้องการของตลาดโลกปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 9.75 แสนล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้น 13% จากปีนี้

ส่วนปีนี้คาดว่าการส่งออกอาหารจะมีมูลค่าทั้งสิ้น 7.37 แสนล้านบาท หดตัว 5.2% จากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากความต้องการสินค้าในตลาดโลกลดลง 15% จากปีก่อน มูลค่าเหลือเพียง 8.63 แสนล้านดอลลาร์

"การส่งออกในปีนี้ที่หดตัวลงถือว่าไม่ได้ย่ำแย่นัก แม้มูลค่าส่งออกจะปรับตัวลดลงแต่ผู้ผลิตเองก็ได้รับประโยชน์จากการปรับตัวลดลงของราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตต่างๆ เช่นกัน ทำให้ตลอดปีที่ผ่านมาโดยรวมแล้วรายได้จากการส่งออกในภาคอุตสาหกรรมอาหารของไทยที่หดตัวลงจึงถูกชดเชยด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดต่ำลง กำไรที่ผู้ประกอบการได้รับจึงเพิ่มสูงขึ้น" นายอมร กล่าว

รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า สินค้าส่งออกหลักที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ไก่และสัตว์ปีก ทูน่ากระป๋องและทูน่าแปรรูป ปลากระป๋องและปลาแปรรูป ผักผลไม้กระป๋องและแปรรูป เครื่องปรุงรส ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ อาหารสัตว์สำเร็จรูป เป็นต้น ส่วนสินค้าที่การส่งออกอาจปรับตัวลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์กุ้ง ปลาหมึก และผลไม้สด

ปัจจัยสนับสนุนในระยะสั้นมาจากการค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมทั้งหลายประเทศในเอเชียซึ่งเป็นทั้งคู่แข่งและคู่ค้าประสบภัยธรรมชาติ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุนในระยะยาวที่ได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การที่ผู้ประกอบการไทยได้พัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ สินค้าอาหารของไทยได้รับการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานการผลิตให้มีคุณภาพและความปลอดภัยมาโดยตลอด ประกอบกับอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของการค้าการลงทุนภายใต้การเปิดเสรีทางการค้าทั้งในระดับพหุภาคี(WTO, AFTA)และทวิภาคีในรูปของ FTA กับประเทศต่างๆ จะเป็นแรงผลักดันให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยเติบโตสูงขึ้น

รักษาการผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า การเปิดเสรีทางการค้าภายใต้ข้อตกลงอาฟตาที่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า แม้จะส่งผลดีต่อภาพรวมทางการค้าของไทยให้ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ก็มีผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมบางส่วนที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้ง ผู้บริโภค

ภาครัฐต้องเร่งให้ความช่วยเหลือในการปรับปรุงโครงสร้างการผลิตควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบการตลาดเพื่อยกระดับการแข่งขันในสูงขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการเพื่อกำกับดูแลการนำเข้าสินค้าให้เข้มงวด เช่น การกำหนดคุณสมบัติและผู้มีสิทธินำเข้า การตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า การกำหนดมาตรฐานสินค้า ทั้งควรให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในการเลือกบริโภคสินค้า โดยให้ความสำคัญเรื่องคุณภาพสินค้าควบคู่ไปกับราคาด้วย

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารของไทยในปีหน้ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างเชื่องช้าโดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงมีปัญหาความมั่นคงของสถาบันการเงินและอัตราการว่างงานอยู่ในระดับสูง ขณะที่มาตรการและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีรูปแบบใหม่ๆ(NTMs/NTBs) โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก และคาดว่าจะมีการนำมาบังคับใช้อย่างกว้างขวาง ถือเป็นอุปสรรคทางการค้าที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

สำหรับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่ดูไบนั้น โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารที่คนไทยเข้าไปลงทุนราว 42 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่มีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของได้รับผลกระทบจากยอดขายลดลงประมาณ 30% เนื่องจากผู้บริโภคชาวเอเชียซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักถูกเลิกจ้างและถูกส่งกลับประเทศเป็นจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยไปยังยูเออีในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ โดยมีมูลค่าเพียง 5,618 ล้านบาท ลดลง 9.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในช่วงก่อนหน้านี้ 5-6 ปีที่ผ่านมา การส่งออกอาหารของไทยไปยูเออีขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าส่งออกสูงสุดในปี 51 ประมาณ 7,200 ล้านบาท ปัจจุบัน ประเทศยูเออีเป็นตลาดอาหารอันดับที่ 30 ของไทย และเป็นหนึ่งในตลาดอาหารที่เป็นเป้าหมายของไทยในอนาคต โดยมีผู้ซื้อหลักคือกลุ่มคนงานจากเอเชียที่มีจำนวนกว่า 3 ล้านคน หรือ 60% ของประชากรกว่า 5 ล้านคนในยูเออี

สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยูเออีที่ได้รับผลกระทบมากจากวิกฤติเศรษฐกิจในดูไบครั้งนี้ ได้แก่ ข้าว ซึ่งเป็นสินค้าหลักในตลาดยูเออี โดยมีสัดส่วน 30% ของอาหารส่งออกทั้งหมดที่ไปยูเออี รองลงมาคือ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง เบียร์ เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ