(เพิ่มเติม) นายกฯ เผยได้ข้อสรุป 3 แนวทางบรรเทาผลกระทบการลงทุนในมาบตาพุด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 3, 2009 18:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เผยได้ข้อสรุปแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นเพื่อบรรเทาผลกระทบด้านการลงทุนในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งแก้คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลางเมื่อวานนี้ โดยจะดำเนินการใน 3 ส่วน คือ ส่วนแรกมอบหมายให้คณะกรรมการ 4 ฝ่ายฯ พิจารณาเรื่องการออกระเบียบรองรับตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 วรรคสอง ที่จะเป็นแนวทางปฏิบัติให้แก่ 65 โครงการที่ถูกสั่งระงับอยู่

ส่วนที่สองมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำชับให้เอกชนเจ้าของโครงการยึดมั่นในคำสั่งของศาล และส่วนที่สามเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานจัดทำรายละเอียดของโครงการทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าจะมีช่องทางใดบ้างที่ภาครัฐจะสามารถเข้าไปช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบได้

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การที่โครงการดังกล่าวถูกชะลอไว้จะไม่ส่งผลกระทบให้ต้องมีการปรับลดเป้าจีดีพีในปีนี้

"อาจมีผลกระทบบ้าง แต่ยังไม่มีการปรับเป้า" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมหารือเพื่อหาแนวทางการลดผลกระทบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในวันนี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนต่างชาติ และเกิดความชัดเจนเพื่อขจัดข้อกังวลว่าเอกชนอาจย้ายฐานการผลิตไปต่างประเทศ

ด้านนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ได้มอบหมายให้นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ไปสำรวจรายละเอียดทุกโครงการว่าอยู่ในสถานะใด และมีปัญหาใดบ้าง เพราะมีบางโครงการได้จัดทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) แล้วเสร็จก่อนที่รัฐธรรมนูญ 2550 ประกาศใช้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ได้กำหนดระยะเวลาดำเนินการแต่ให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด ส่วนการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจะต้องรอฟังรายงานดังกล่าวก่อน โดยเบื้องต้นได้รับรายงานจากเอกชนว่า การที่โครงการต้องหยุดดำเนินการก่อสร้าง จะส่งผลกระทบต่อแรงงาน 3-4 หมื่นคน ซึ่งรัฐต้องสำรวจความเสียหายให้ละเอียดก่อนจะสรุปว่าจะช่วยเหลืออย่างไร

ขณะที่นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วย รมต.ประจำกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า อยู่ระหว่างรอคำสั่งอย่างเป็นทางการจากศาลปกครองสูงสุดในช่วงอีก 2-3 วัน หลังจากนั้นจะดำเนินการออกคำสั่งให้เอกชนระงับการดำเนินโครงการต่อไป ทั้งนี้หากเอกชนรายใดปฎิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองแล้วก็สามารถยื่นขอให้ศาลอนุญาตออกจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ ซึ่งนายกรัฐมนตรีไม่ปิดกั้นหากภาคเอกชนจะทำเรื่องหารือไปยังศาลปกครองเป็นรายโครงการ

ส่วนนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสหากรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้รับปากที่จะเร่งออกประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเรื่องการทำ EIA และ HIA ซึ่งภาคเอกชนประเมินว่าการดำเนินการคงต้องใช้เวลาตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 1 ปี แล้วแต่ขนาดของโครงการ ทั้งนี้หลายโครงการได้หยุดก่อสร้างลง ยอมรับกระทบแรงงานก่อสร้าง ส่วนบางโครงการที่เปิดดำเนินการแล้ว ได้มีคำสั่งซื้อ และรับออเดอร์ และมีสัญญาที่จะผลิตให้ผู้สั่งซื้อ หากต้องหยุดก็จะได้รับผลกระทบ รวมถึงบางโครงการเริ่มถึงกำหนดชำระเงินกู้บางแล้ว

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการเงิน บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย(SCC)เปิดเผยว่า เครือซิเมนต์ไทยมีโครงการลงทุนในมาบตาพุด จ.ระยอง ทั้งหมด 20 โครงการ แต่สามารถดำเนินโครงการต่อได้ 2 โครงการเท่านั้น มูลค่าลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท แต่อีก 18 โครงการ มูลค่าลงทุนประมาณ 57,500 ล้านบาท ยังไม่สามารถดำเนินการต่อไป ต้องมีการดำเนินการตามรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสองให้เรียบร้อยก่อน และยังไม่รู้ว่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทมากน้อยแค่ไหน เนื่องจากยังไม่สามารถประเมินได้

ทั้งนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นคาดว่าจะกระทบรุนแรงต่อเครือซิเมนต์ไทย เพราะโครงการลงทุนของเครือซิเมนต์ส่วนใหญ่เป็นการร่วมทุนกับนักลงทุนจากสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น ซึ่งได้มีการชี้แจงให้เป็นที่เข้าใจแล้วแต่ก็ยังมีความกังวลอยู่ และส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนด้านปิโตรเคมีที่ลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ที่มีความเกี่ยวข้องกับโครงการอื่นๆ ในเครือซิเมนต์ไทย ทั้งที่ยังไม่ได้เปิดดำเนินการและเปิดดำเนินการแล้ว ซึ่งจะต้องมีการใช้วัตถุดิบและแลกเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ระหว่างกัน หากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องการลงทุนว่าจะลงทุนได้หรือไม่ และล่าช้าออกไปเท่าไรก็จะส่งผลกระทบต่อเครือซิเมนต์ไทยมาก

ส่วนโครงการลงทุนโรงโอเลฟินส์แครกเกอร์ขนาดกำลังการผลิตประมาณ 1.7 ล้านตันต่อปี ไม่ได้อยู่ใน 76 โครงการลงทุน สามารถดำเนินการต่อได้ตามแผน แต่ในส่วนขยายการกำลังการผลิตของโรงนี้เพิ่มอยู่ใน 76 โครงการ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้ต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ