องค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) เรียกร้องให้อินเดียผ่อนปรนกฎระเบียบด้านการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติในธุรกิจประกัน ธนาคาร และค้าปลีก เพื่อกระตุ้นการจ้างงานให้สูงขึ้นและหนุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวรวดเร็วขึ้นด้วย
OECD กล่าวในรายงาน “OECD Investment Policy Reviews: India" ว่า นโยบายของอินเดียในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติยังคงเข้มงวดเกินไปเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆในกลุ่ม OECD โดยเมื่อไม่นานมานี้อินเดียได้จำกัดบริษัท นิวยอร์ก ไลฟ์ อินชัวรันซ์ และบริษัทประกันต่างชาติรายอื่นๆให้ถือหุ้นในบริษัทของอินเดียได้เพียง 26% และตั้งกำแพงกีดกันบริษัทค้าปลีก รวมถึงวอล-มาร์ท สโตเรส ไม่ให้เปิดเอาท์เลทในอินเดีย ด้วยเหตุนี้ OECD จึงเรียกร้องให้อินเดียแก้ไขกฎหมายการลงทุน
แองเจล เกอร์เรีย เลขาธิการ OECD กล่าวว่า อินเดียสามารถไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ได้ หากอินเดียดำเนินนโยบายอย่างไม่เลือกปฏิบัติด้วยการกำหนดกฏเกณฑ์ที่เข้มงวดเกินไปต่อนักลงทุนต่างชาติ โดยรัฐสภาอินเดียคว่ำแผนการเพิ่มเพดานการถือครองหุ้นของนักลงทุนต่างชาติจากปัจจุบันที่ 26% เป็น 49% มาเป็นเวลากว่า 3 ปี และปัจจุบันเรื่องนี้ยังอยู่บนโต๊ะเจรจาของพรรคการเมืองทั้ง 3 พรรค
รายงานของ OECD ระบุว่า เศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวรวดเร็วขึ้นหากอินเดียเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิตจากการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะในภาคการธนาคาร ธุรกิจประกัน และค้าปลีก ซึ่งหากอินเดียดำเนินการได้เช่นก็จะช่วยให้เม็ดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น และช่วยให้รายได้ในภาคการเกษตรและภาคส่วนอื่นๆของอินเดียเพิ่มขึ้นด้วย
นอกจากนี้ OECD ยังเรียกร้องให้อินเดียปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมและกฎหมาย รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับลิขสิทธิ์ทรัพยสินทางปัญญา
ด้านนายกรัฐมนตรีมานโมฮาน ซิงห์ของอินเดียยอมรับว่า อินเดียมีตัวเลข FDI เพียง 1.21 แสนล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา ซึ่งต่ำกว่าจีนที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินจากต่างชาติได้สูงถึง 5.66 แสนล้านดอลลาร์ภายในช่วงเวลาเดียวกัน