นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษจรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กล่าวว่า เกษตรกรที่ยังไม่ได้มาขึ้นทะเบียนทำสัญญาประกันรายได้กับ ธกส.ขอให้รีบมาขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 15 ธ.ค.นี้ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่กำหนดไว้ในโครงการ เนื่องจาก ธกส.ห่วงว่าเกษตรกรจะเสียสิทธิ์รับเงินส่วนต่างหรือได้รับเงินน้อยลง เพระขณะนี้ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงของสินค้าเกษตรทั้ง 3 ชนิดปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลให้ราคาส่วนต่างระหว่างราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงกับราคาประกันแคบลงทุกขณะ ดังนั้น หากเกษตรกรยังไม่รีบมาสัญญาโอกาสที่จะได้รับเงินชดเชยก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ
สำหรับเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนแล้ว สามารถยื่นขอใช้สิทธิ์รับเงินได้จนถึงวันที่ 28 ก.พ.53
นายลักษณ์ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรตามโครงการประกันราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะเกษตรกรที่ปลูกพืชเศรษฐกิจ 3 ชนิด คือ ข้าวเปลือกนาปี มันสำปะหลัง และ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้น ปรากฎว่า จนถึงวันที่ 9 ธ.ค.52 มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนและมีการออกหนังสือรับรองการทะเบียนรวม 4,049,816 ราย และจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว 10,802 ล้านบาท แบ่งเป็น ข้าวเปลือกนาปี 3,208,360 ราย มันสำปะหลัง 443,239 ราย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 398,217 ราย
โดยในส่วนของข้าวเปลือกนาปี จำนวน 3,208,360 รายนั้น ธกส.ได้จัดทำสัญญาให้แล้ว 2,669,556 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 83.21 มีเกษตรกรใช้สิทธิ์รับเงินชดเชยส่วนต่างราคารวม 5,340.44 ล้านบาท และมีสัญญาที่ได้รับการอนุมัติรอการใช้สิทธิ์ 1.82 ล้านราย
ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังขึ้นทะเบียนแล้ว 443,239 ราย ทำสัญญาแล้ว 421,148 ราย คิดเป็นร้อยละ 95.02 มีเกษตรกรใช้สิทธิ์รับเงินชดเชยส่วนต่างราคารวม 472.48 ล้านบาท และมีสัญญาที่ได้รับการอนุมัติรอการใช้สิทธิ์ 5.45 หมื่นราย
ด้านเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มาขึ้นทะเบียนแล้ว 398,217 ราย ทำสัญญาแล้ว 389,668 ราย คิดเป็นร้อยละ 97.85 มีเกษตรกรใช้สิทธิ์รับเงินชดเชยส่วนต่างราคารวม 4,989.27 ล้านบาท
นายลักษณ์ ยังมองว่า การที่เกษตรกรกำลังประสบปัญหาแมลงศัตรูพืชระบาดอยู่ในขณะนี้ ทั้งเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลที่กัดกินทำลายนาข้าวในหลายพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทย และเพลี้ยแป้งที่ทำลายมันสำปะหลังในภาคอีสาน ทำผลผลิตเสียหายและจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรก็น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เกษตรผู้ปลูกข้าวควรมาเข้าโครงการทำสัญญาประกันรายได้กับรัฐบาล
ทั้งนี้ ธกส.คาดว่าเมื่อครบกำหนดวันที่ 15 ธ.ค.นี้ น่าจะสามารถจ่ายเงินชดเชยให้กับเกษตรกรผู้ปลูกพืชทั้ง 3 ชนิดได้ประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาท จากงบประมาณสนับสนุนจากภาครัฐที่จะช่วยเหลือพืชเกษตร 4.3 หมื่นล้านบาท ส่วนเงินที่เหลือก็จะคืนให้แก่รัฐบาลซึ่งคงจะมีการพิจารณาว่าจะนำเงินดังกล่าวไปใช้ประโยชน์อย่างไรต่อไป
ส่วนเมื่อสิ้นสุดโครงการในวันที่ 15 ธ.ค.นี้แล้วจะมีการขยายระเวลาสำหรับเกษตรกรที่ยังไม่มาขึ้นทะเบียนหรือไม่ คงจะขึ้นอยู่กับการพิจารณาของนายกอปรศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจว่าจะตัดสินใจอย่างไร