ก.เกษตรตั้งวอร์รูมเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล-พ่นยากำจัด18จังหวัดเริ่ม 27ธ.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 11, 2009 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดแผนปฏิบัติการควบคุม กำจัด เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ในพื้นที่เน้นหนัก 18 จังหวัด รวมทั้งสิ้น 11 ขั้นตอน แบ่งการดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนกลางจะจัดตั้งศูนย์อำนวยการ ควบคุม กำจัดเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล(War Room)ขึ้นที่กรมการข้าว เพื่อกำกับงาน เร่งรัด ติดตามประเมินผล เฝ้าระวัง และชี้แจงตอบปัญหาต่างๆ ต่อทั้งเจ้าหน้าที่และเกษตรกร และให้มีทีมวิชาการประจำอยู่ที่ศูนย์ฯ ด้วย

ส่วนทางจังหวัดจะแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจระดับจังหวัดและระดับอำเภอขึ้นเพื่อควบคุมการปฏิบัติงานในพื้นที่ การระดมเจ้าหน้าที่ช่วยเหลือ รวมไปถึงการจัดซื้อจัดจ้างสารเคมีโดยใช้งบประมาณในส่วนของจังหวัดว่าด้วยภัยพิบัติที่อยู่ในอำนาจอนุมัติของผู้ว่าฯ จำนวน 50 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังได้ระดมนักวิชาการของกระทรวงเกษตรฯ เร่งลงพื้นที่ระบาดของเพลี้ยกระโดด เพื่อสำรวจแปลงปลูกข้าวรายแปลง วิเคราะห์พื้นที่ปลูกข้าวและสำรวจระยะวงจรชีวิตของเพลี้ยกระโดด โดยในเบื้องต้นนักวิชาการได้วันดีเดย์ Big Cleaning Lock and Seal Area ครั้งแรก พร้อมกันทุกพื้นที่เป้าหมาย 18 จังหวัด ในวันที่ 27 ธ.ค.52 เพื่อหยุดยั้งและป้องกันการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่นๆ และจะมีการดำเนินงานครั้งที่สองในอีก 15 วันถัดไปเพื่อย้ำประสิทธิภาพการทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล

ทั้งนี้ ยังเห็นว่าพื้นที่ปลูกข้าวที่มีอายุ 40 วัน - ใกล้ออกรวงยังเป็นระยะที่ช่วยเหลือให้ผลผลิตต่อไร่ถูกทำลายน้อยกว่า 30% โดยให้พ่นสารบูโพรเฟซิน หรืออีโทรเฟนพรอกซ์ เนื่องจากไม่เป็นพิษต่อมวนเขียวดูดไข่ ซึ่งเป็นศัตรูธรรมชาติสำคัญที่ช่วยทำลายไข่ของเพลี้ยกระโดด ส่วนข้าวที่มีอายุมากกว่า 60 วันอาจช่วยเหลือได้ไม่มากนักเนื่องจากผลผลิตจะเสียหายไปแล้วกว่า 70% แต่หากจะดำเนินการให้ใช้สารประเภทดูดซึม อาทิ ไดโนทีฟูแรน ไทอะมิโตรแซม การจัดการดำเนินงานต่างๆ จะอยู่ในดุลยพินิจของทางจังหวัด มีกรมการข้าวเป็นผู้แนะนำความเหมาะสมของมาตรการต่างๆ

อนึ่ง การระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลระหว่างเดือนพ.ย.-8 ธ.ค.52 รวม 18 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุทัยธานี กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร เพชรบูรณ์ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี อ่างทอง นนทบุรี ปทุมธานี สระบุรี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี นครนายก ขอนแก่น และมหาสารคาม ทำลายนาข้าวไปแล้วรวมพื้นที่ 1.96 ล้านไร่ คิดเป็น 13% ของพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด ซึ่งหากไม่กำหนดมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจทำให้เกิดความเสียหายสิ้นเชิงต่อผลผลิตข้าวประมาณ 1.2 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 11,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ