ยอดจองรถยนต์หลังจบงานในวันที่ 13 ธ.ค.52 จะอยู่ที่ประมาณ 25,220 หมื่นคัน สูงกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 15,000 คัน และน่าจะมีเงินสะพัดภายในงานเมื่อรวมยอดขายอุปกรณ์ตกแต่งและอื่นๆ กว่า 2.7 หมื่นล้านบาท โดยปีนี้มีค่ายรถยนต์เข้าร่วม 32 ยี่ห้อ และมีประชาชนเข้าร่วมชมงานกว่า 1.59 ล้านคน เงินสะพัดทั้งจองซื้อรถ และการซื้ออุปกรณ์เกี่ยวเนื่องและรถยนต์มือสอง คาดว่าจะอยูในราว 29,000 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ
นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธาน บริษัท สื่อสากล จำกัด และประธานจัดงาน"มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 26" หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป 2009 กล่าวว่า ยอดจองรถยนต์ภายในงานก็ดีเกินความคาดหมายและสูงกว่าปีก่อน เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและตลาดรถยนต์เริ่มฟื้นตัว ขณะที่ค่ายรถก็พยายามสร้างยอดเพื่อปิดตัวเลขขายปลายปี ชดเชยยอดที่หายไปในช่วงต้นปี โดยอาศัยแคมเปญส่งเสริมการขายต่างๆ
ผลสำรวจราคารถยนต์เฉลี่ยที่ถูกจองภายในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2009 จะอยู่ประมาณ 9.6 แสนบาทสูงกว่าปีก่อนที่เคยสำรวจไว้คือ 8.5 แสนบาท โดยเมื่อแบ่งตามประเภทรถยนต์ปรากฏว่ายอดจองปิกอัพมีสัดส่วนเพียง 17% ขณะที่รถยนต์นั่งมีถึง 45% ซึ่งในจำนวนนี้เป็นส่วนแบ่งของเก๋งเล็กกว่า 60% สอดคล้องกับทิศทางตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมานิยมรถยนต์นั่งขนาดเล็กมากขึ้น
"เมื่อก่อนปิกอัพจะขายดี แต่ช่วงหลังเก๋งเล็กหรือรถเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1500 ซีซีราคาประมาณ 5 แสนบาทมาแรงมาก เห็นได้จากยอดจองภายในงาน ขณะเดียวกันยังสะท้อนถึงสัดส่วนยอดขายระหว่างปิกอัพกับเก๋งในตลาดรถยนต์เมืองไทย ที่จะปรับจาก 65/35 เป็น 55/45 ในปีนี้"นายขวัญชัย กล่าว
ทั้งนี้ ค่ายรถยนต์ที่มียอดจองสูงสุดในงาน ได้แก่ โตโยต้า 7,230 คัน, อันดับสอง ได้แก่ ฮอนด้า ยอดจอง 4,239 คัน, อันดับสาม ได้แก่ อีซูซุ ยอดจอง 2,539 คัน, อันดับสี่ มาสด้า ยอดจอง 2,277 คัน, อันดับห้า มิตซูบิชิ ยอดจอง 1,518 คัน และ อันดับที่หก โปรตอน ยอดจอง 1,388 คัน
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โป 2009 ถือเป็นสัญญาณดีและจะเป็นจุดเริ่มให้ตลาดรถยนต์เมืองไทยปี 53 กลับมาคึกคักอีกครั้ง ที่สำคัญเมื่อวิกฤตเศรษฐกิจโลกเริ่มนิ่ง ย่อมส่งผลให้ยอดส่งออกรถยนต์กลับมาอยู่ในภาวะปกติ ด้านยอดขายในประเทศน่าจะเติบโตอย่างน้อย 5-10% เมื่อเทียบกับปีนี้