ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกรถยนต์ปี 53 โต 8-12% จากที่หดตัว 31%ปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 14, 2009 12:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าปริมาณการส่งออกรถยนต์ของไทยในปี 53 จะอยู่ระหว่าง 575,000 ถึง 595,000 คัน หรือขยายตัว 8-12% จากที่คาดว่าจะหดตัว 31% ในปี 52 โดยเริ่มเห็นสัญญาณของปัจจัยบวกต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปี 52 ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกรถยนต์ไทยในปีหน้ามีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีนี้

สำหรับแนวโน้มในช่วงที่เหลือของปี 52 จากทิศทางการฟื้นตัวขึ้นตามลำดับของเศรษฐกิจประเทศต่างๆซึ่งส่งสัญญาณให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับฐานที่ต่ำในปีก่อน คาดว่าจะส่งผลให้ตัวเลขการส่งออกรถยนต์โดยเฉพาะในเดือน ธ.ค.มีโอกาสที่จะพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกสูง และจะเป็นการกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยเริ่มหดตัวต่อเนื่องหลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกตั้งแต่เดือน พ.ย.551

และด้วยทิศทางการฟื้นตัวดีขึ้นดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะส่งผลทำให้ปริมาณการส่งออกรถยนต์ไทยปี 52 หดตัวประมาณ 31% ซึ่งต่ำกว่าที่คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะหดตัวประมาณ 34-37% โดยคิดเป็นจำนวนประมาณ 533,000 คัน เพิ่มขึ้นจากที่คาดไว้เดิมที่ 490,000 ถึง 510,000 คัน

ปัจจัยบวกต่างๆ ประกอบด้วย ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดส่งออกรถยนต์หลักของไทย เช่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง และอาเซียน, แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้รายได้ของประเทศที่เป็นตลาดหลักสูงขึ้น ส่งผลต่ออำนาจซื้อของประชาชนในประเทศนั้น ๆ, การลดภาษีนำเข้ารถยนต์เหลือ 0% ภายใต้กรอบการเปิดเสรีการค้าต่างๆ โดยเฉพาะกรอบอาฟต้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53

การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดโดยเฉพาะรถอีโคคาร์ในปี 53 โดยตั้งเป้าที่จะส่งออกบางส่วนในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง ประกอบกับ ตลาดมีแนวโน้มที่จะให้ความสนใจกับรถยนต์ขนาดเล็กประหยัดพลังงานมากขึ้น, ฐานตัวเลขการส่งออกที่ต่ำค่อนข้างมากในปี 52 จากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า แม้จะมีหลายปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์ไทย แต่ก็ยังคงเผชิญกับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาน้ำมัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่อาจจะยังคงฉุดรั้งการเติบโตอยู่ อย่างไรก็ตาม หากไทยสามารถใช้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบอาฟต้าได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอุปสรรค เช่น การกีดกันการค้าโดยใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures) รูปแบบต่างๆจากประเทศผู้นำเข้า รวมถึงหากการตอบรับของตลาดต่อรถยนต์อีโคคาร์ซึ่งจะเปิดตัวในปี 53 เป็นไปได้ดีกว่าที่คาด อาจจะผลักดันให้ตลาดเติบโตได้สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ได้

"คาดว่าจะส่งผลทำให้ในปี 53 ไทยอาจจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ใกล้เคียง 1.2 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 จากที่คาดว่าจะผลิตได้ประมาณ 1 ล้านคันในปี 2552 อย่างไรก็ตาม แม้ภาวะการผลิตรถยนต์ของไทยจะกลับมาขยายตัวในปี 53 แต่ทว่าการที่อุตสาหกรรมจะสามารถฟื้นตัวกลับมามีระดับการผลิตเท่ากับก่อนเกิดวิกฤตที่ 1.4 ล้านคันนั้น คาดว่าอาจจะต้องใช้ระยะเวลาถึงประมาณ 3 ปีนับจากนี้"ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ

ในการนี้ภาครัฐมีส่วนอย่างยิ่งที่จะช่วยรักษาความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยในตลาดต่างประเทศ ทั้งจากการดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเพื่อลดความเสี่ยงด้านต้นทุนการผลิตและกำไร รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประกอบการในกรณีที่ประเทศผู้นำเข้ามีการนำมาตรการต่างๆที่ไม่ใช่ภาษีมาใช้เพื่อกีดกันการนำเข้ารถยนต์จากไทย และให้การสนับสนุนในด้านต่างๆที่สามารถทำได้ในการผลักดันโครงการรถอีโคคาร์ หรือโครงการรถประหยัดพลังงานอื่นๆ

ส่วนผู้ประกอบการควรมุ่งเน้นเข้าหาตลาดศักยภาพ เช่น ตะวันออกกลาง ซึ่งในระยะหลังนี้พบว่ามีการขยายตัวค่อนข้างดี เนื่องจากอาจได้รับประโยชน์จากรายได้ที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ซึ่งมีราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมัน นอกจากนี้ควรใช้โอกาสจากข้อตกลง AFTA ในการหาช่องทางส่งออกไปยังประเทศเหล่านี้เพิ่มมากขึ้น รวมถึงอาศัยโอกาสที่ตลาดให้ความสำคัญกับการประหยัดพลังงานมากขึ้นหันมาพัฒนารถยนต์ที่สามารถประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และใช้พลังงานทางเลือกได้มากขึ้น

ด้านอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยอาจจำเป็นต้องมีการพัฒนาระดับมาตรฐานเทคโนโลยี รวมถึงบุคคลากร ให้มีความพร้อมเพื่อเตรียมรองรับตลาดรถยนต์รูปแบบใหม่ๆ เช่น รถยนต์นั่งขนาดเล็กอย่างอีโคคาร์ หรือรถประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งคาดว่าจะเป็นแนวโน้มการตลาดรถยนต์ในอนาคตอันใกล้นี้ไปพร้อมกันด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ