ก.เกษตรฯ เดินหน้าโครงการประกันภัยพืชผลทางการเกษตรเน้นข้าวเป็นการเฉพาะ

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 14, 2009 17:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยความคืบหน้าโครงการระบบประกันภัยพืชผลอันเนื่องมาจากภัยธรรมชาติตามนโยบายของรัฐบาลว่า ขณะนี้ได้สรุปผลการศึกษารูปแบบและวิธีการช่วยเหลือและชดเชยความเสียหายผลผลิตทางการเกษตรที่ประสบภัยธรรมชาติเรียบร้อยแล้วที่เหมาะสมและปฏิบัติได้จริง คือ การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติด้านการเกษตรโดยภาครัฐ

นอกจากนี้ ได้สั่งการให้กรมส่งเสริมการเกษตร ทำการศึกษาเพิ่มเติมแนวทางการดำเนินการประกันภัยสำหรับข้าว และได้สอบถามความเห็นของเกษตรกร สมาคมประกันภัย และคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งได้ให้ความเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

สำหรับผลการศึกษาของกรมส่งเสริมสหกรณ์นั้นสามารถดำเนินการได้ 2 แนวทาง คือ 1.สมาชิกสถาบันเกษตรกรหรือองค์กรเกษตรกรจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนร่วมกับภาครัฐ และ 2.รัฐสนับสนุนเงินเข้ากองทุนฝ่ายเดียว

แนวทางแรก รัฐบาลจัดสรรเงินจำนวนหนึ่งสมทบเข้ากองทุนตามวงเงินเดิมที่รัฐเคยจ่ายกรณีเกิดภัยธรรมชาติในแต่ละปีหรือมากกว่า ในเบื้องต้นกำหนดไว้ในอัตรา 80% ของเงินกองทุน หรือประมาณปีละ 3,212.96 ล้านบาท ขณะเดียวกันสมาชิกทุกคนจ่ายสมทบเงินเข้ากองทุนอัตรา 20% ของเงินกองทุน หรือตามที่คณะกรรมการนโยบายชดเชยผลผลิตการเกษตรที่ประสบภัยธรรมชาติกำหนด ซึ่งการจ่ายสมทบตามสัดส่วนที่กำหนดนี้ จำนวนเงินที่จะได้รับการชดเชยก็จะเพิ่มมากกว่าที่ได้รับอยู่ในปัจจุบันด้วย เช่น ไก่ เกษตรกรสมทบตัวละ 0.08 บาทจะได้รับชดเชยเมื่อเสียหายตัวละ 24 บาท ปัจจุบันได้รับตัวละ 15 บาท เป็นต้น ส่วนผู้ที่ไม่จ่ายสมทบเข้ากองทุนก็ยังคงได้รับความช่วยเหลือในอัตราเดิมที่ได้รับอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนแนวทางที่สอง ซึ่งรัฐจ่ายเงินเข้ากองทุนฝ่ายเดียว ขณะที่สมาชิกสหกรณ์ สมาชิกกลุ่มเกษตรกร และเกษตรกรรายย่อยไม่ต้องจ่ายสมทบ เพราะไม่ต้องการให้เกษตรกรมีภาระค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเปรียบเทียบกับแนวทางแรกการชดเชยที่เกษตรกรจะได้รับก็ลดลง 20% ไปด้วย ซึ่งจะได้เท่ากับในปัจจุบันไร่ละ 606 บาท

ทั้งนี้ กองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติด้านการเกษตรได้กำหนดวิธีการให้ความช่วยเหลือแก่สมาชิกกองทุนผู้ประสบภัยธรรมชาติ และมีสิทธิ์ได้รับการช่วยเหลือไว้ 3 กรณี คือ 1.ชดเชยความเสียหายด้านผลผลิตการเกษตร 2.ช่วยเหลือในด้านเงินกู้ สำหรับการฟื้นฟูการผลิต 3.ชดเชยดอกเบี้ยจากการพักชำระหนี้ของสมาชิกกองทุนผู้ประสบภัยให้กับสถาบันเกษตรกร

นายธีระ กล่าวถึงการศึกษาการประกันภัยเกี่ยวกับข้าวว่า กรมส่งเสริมการเกษตร เห็นว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ปลูกข้าว จึงเห็นสมควรที่จะมีการศึกษาการประกันภัยทางด้านนี้ให้ชัดเจน เนื่องจากมีลักษณะที่แตกต่างจากการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ค่อนข้างมาก จึงได้ทำการศึกษาข้าวเป็นการเฉพาะ ทั้งอัตราเบี้ยประกัน วงเงินคุ้มครอง รูปแบบหรือเกณฑ์การประเมินความเสียหาย และการบริหารจัดการการรับประกันภัยที่เหมาะสม ซึ่งขณะนี้มีการดำเนินการเหมือนการรับประกันภัยจริงทุกประการ แต่ยังไม่มีการเก็บเงินค่าเบี้ยประกันจากเกษตรกรและไม่มีการจ่ายเงินชดเชยแก่เกษตรกร

การศึกษาได้ดำเนินการในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศรวม 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พะเยา กำแพงเพชร นครสวรรค์ หนองคาย มุกดาหาร อุดรธานี ขอนแก่น นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยนาท อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช และพัทลุง โดยนำสถิติการเกิดอุทกภัยและภัยแล้งตั้งแต่ปี 47-51 มาคำนวณหาโอกาสเกิดภัย เพื่อนำมากำหนดอัตราเบี้ยประกันภัย และวงเงินคุ้มครอง ตามช่วงระยะเวลาการเจริญเติบโตของข้าวในช่วงที่ข้าวได้รับความเสียหาย

สำหรับการประเมินความเสียหายนั้นจะดำเนินการโดยคณะกรรมการประเมินความเสียหายในระดับท้องถิ่นลงสำรวจแปลง และตรวจสอบว่าเกษตรกรรายนั้นจะได้รับเงินชดเชยเท่าไร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ยกร่างระเบียบต่าง ๆ และมีการไปรับฟังความคิดเห็นของทั้งเกษตรกรที่ปลูกข้าว และนอกจากนั้นยังได้จัดสัมมนาผู้ประกอบการประกันภัยเพื่อรับฟังความคิดเห็นไปด้วยแล้ว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ