ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดแนวโน้มยางฟื้นตัวตาม ศก.โลก แนะระวังราคาผันผวน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 15, 2009 14:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ในปี 2553 นับว่าเป็นโอกาสดีของไทย ในฐานะที่เป็นประเทศผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางอันดับหนึ่งของโลก เนื่องจากสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยางปี 53 มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นตามการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมรถยนต์และความต้องการยางธรรมชาติเพื่อป้อนอุตสาหกรรมยางรถยนต์ฟื้นตัวตามไปด้วย โดยไทยมีโอกาสส่งออกยางได้เพิ่มขึ้น และราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในปี 2552

สมาคมยางพาราแห่งประเทศไทย คาดว่า การส่งออกยางพาราของไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2552 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคายางแผ่นดิบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าราคายางแผ่นดิบเฉลี่ยทั้งปีในปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากในปี 2552 อีกร้อยละ 30 เนื่องจากปริมาณการผลิตยางได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ เนื่องจากในช่วงต้นปีเป็นช่วงยางผลัดใบ ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ในขณะที่ความต้องการใช้ยางธรรมชาติมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยคาดว่าในปี 2552 ไทยส่งออกยางพาราได้ 2.6 ล้านตัน มูลค่า 3,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับปี 2551

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ชาวสวนยางและผู้ที่เกี่ยวข้องยังต้องระมัดระวัง คือ ความต้องการยางและราคายางยังมีโอกาสที่จะผันผวนได้มาก เนื่องจากคาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตยางปี 2553 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 9.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 จาก 9.4 ล้านตัน ในปี 2552 แล้ว เนื่องจากคาดว่าเนื้อที่ยางทยอยเปิดกรีดหรือให้ผลผลิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่จาการที่ภาวะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยยังเป็นอุปสรรคสำหรับอินเดีย กล่าวคือ คาดการณ์ว่าปริมาณการผลิตยางของอินเดียยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2553 ปริมาณการผลิตยางของอินเดียอยู่ในระดับ 840 พันตัน ลดลงร้อยละ 2.9 ส่วนอินโดนีเซียคาดว่าจะต้องเผชิญปัญหาเอลนิโนหรือสภาพอากาศที่แห้งแล้งผิดปกติ ซึ่งอาจจะส่งผลให้ปริมาณการผลิตยางของอินโดนีเซียลดต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ไว้

รวมถึงนโยบายของจีน ซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้ายางสำคัญของไทย สนใจที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจยางรถยนต์ในประเทศไทย โดยให้ไทยเป็นฐานการผลิต ผลผลิตส่วนหนึ่งเพื่อส่งออกจำหน่ายในตลาดโลก และอีกส่วนหนึ่งเพื่อส่งกลับไปใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม คือ จีนเริ่มหันไปนำเข้ายางธรรมชาติจากแหล่งอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกา เช่น ไอเวอร์รี่โคสต์ ไนจีเรีย ไลบีเรีย เป็นต้น แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการนำเข้าจากประเทศเหล่านี้ยังไม่มากนัก แต่มีอัตราการขยายตัวที่อยู่ในเกณฑ์สูง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงด้านค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง ซึ่งถ้าเงินบาทแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่แข่ง ส่งผลทำให้ไทยเสียเปรียบในการแข่งขันในการส่งออกยางในตลาดโลก โดยราคายางของไทยจะแพงกว่าในสายตาของประเทศผู้ซื้อ

ส่วนการที่เวียดนามลดค่าเงินด่องกระทบกับการแข่งขันการส่งออกยางพาราของไทยไม่มากนัก ทั้งนี้เพราะผลผลิตยางของเวียดนามยังมีน้อย ส่วนใหญ่แปรรูปลักษณะยางแท่งคุณภาพดี ยางซีพี 5 แอล ที่มีราคาสูงกว่าไทย แม้ตลาดส่งออกเป็นตลาดเดียวกันคือ จีน แต่ก็ไม่ใช่คู่แข่งที่น่ากลัว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ