กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เปิดเผยรายงาน "World Economic Outlook" โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปี 2553 ซึ่งการขยายตัวที่แข็งแกร่งของเอเชียจะเป็นปัจจัยสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวขึ้นในปีหน้า ขณะเดียวกันคาดว่า ในบรรดากลุ่มประเทศอุตสาหกรรมนั้น สหรัฐอเมริกาจะขยายตัวแซงหน้าเศรษฐกิจชาติยุโรป เนื่องจากระบบการเงินและตลาดแรงงานในสหรัฐส่งสัญญาณการฟื้นตัว ขณะที่อัตราว่างงานที่สูงขึ้นในยุโรปมีแนวโน้มบั่นทอนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซน
-- บารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐย้ำกับแบงค์ต่างๆในสหรัฐภายหลังการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและผู้บริหารของธนาคารต่างๆว่า มีหน้าที่ที่จะต้องช่วยกันฟื้นฟูการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ หลังจากที่รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือธนาคารหลุดพ้นจากวิกฤตด้วยเงินภาษีของประชาชน
-- สิงคโปร์เผยนายจ้างปลดลูกจ้างลดลงในไตรมาส 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่อัตราจ้างงานก็เพิ่มขึ้น หลังจากที่สิงคโปร์หลุดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งรุนแรงสุดในรอบกว่า 40 ปี
โดยอัตราจ้างงานในสิงคโปร์เพิ่มขึ้น 14,000 อัตราในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายน เทียบกับช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ลดลง 7,700 อัตรา ขณะที่จำนวนตำแหน่งงานว่างอยู่ที่ระดับ 34,900 อัตราในไตรมาส 3 หรือเพิ่มขึ้นถึง 46% จากไตรมาสก่อนหน้า
-- เวลส์ ฟาร์โก แอนด์ โค วางแผนที่จะระดมทุน 1.04 หมื่นล้านดอลลาร์ผ่านการขายหุ้น เพื่อนำเงินมาชำระหนี้และดึงบริษัทออกจากโครงการลดสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ (TARP) เช่นเดียวกับที่คู่แข่งรายใหญ่ๆได้ชำระหนี้คืนกันไปแล้วบางส่วนหรือวางแผนที่จะชำระหนี้ ไม่ว่าจะเป็นแบงค์ ออฟ อเมริกา คอร์ป, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และซิตี้กรุ๊ป
-- ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของ 45 ประเทศกลุ่มกำลังพัฒนาในเอเชียมีแนวโน้มขยายตัว 4.5% ในปีนี้ และคาดว่าจะขยายตัว 6.6% ในปีหน้า ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการคาดการณ์เมื่อเดือนก.ย. หลังจากข้อมูลไตรมาส 3 บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศของเอเชียแข็งแกร่งเกินคาด
-- สำนักงานสถิติแห่งชาติสิงคโปร์เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดค้าปลีกเดือนต.ค.ร่วงลง 4.4%ต่อปี ทำสถิติลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 แต่ปรับตัวลงน้อยกว่าเดือนก.ย.ที่ร่วงลง 12% เนื่องจากเศรษฐกิจสิงคโปร์เริ่มฟื้นตัวขึ้นในไตรมาส 3
-- นาโอโต คาน รองนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นชี้การออกพันธบัตรมูลค่า 44 ล้านเยนในปีงบประมาณ 2553 จะเป็นกลไกสำคัญในการหนุนเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากช่วงขาลง นอกจากนี้ ปริมาณการออกพันธบัตรดังกล่าวยังอยู่ในขอบเขตที่ไม่ส่งผลกระทบในด้านความเชื่อมั่นในตลาดไฟแนนซ์
-- ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มการประชุมกำหนดอัตราดอกเบี้ยระยะเวลา 2 วันในคืนนี้ตามเวลาประเทศไทย และจะสิ้นสุดในคืนวันพุธ โดยนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) ที่ระดับ 0 - 0.25% ไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างยั่งยืน