นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัยในปี 53 จะปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยคาดว่าสินเชื่อใหม่ด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรวมในปี 53 จะขยายตัว 5% จากปี 52 ที่ทั้งระบบอยู่ที่ 2.8-3 แสนล้านบาท
ในปี 53 ตัวเลขที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จในกทม.และปริมณฑล น่าจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากปี 52 ที่ 8 หมื่นกว่าหน่วย เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการมากกว่า 1 หลัง และจะเป็นตลาดของคอนโดฯ ที่จะเป็นตัวหลัก
สำหรับในส่วนของธกส.ในปีนี้ ถือว่าสามารถปล่อยสินเชื่อได้มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยสิ้นปีคาดว่าจะแตะที่ 1 แสนล้านบาท จากเป้าสินเชื่อที่ตั้งไว้ 7.35 หมื่นล้านบาท
อย่างไรก็ตามในปีหน้า สิ่งที่ยังคงต้องระวังและติดตามดู คือ เรื่องของเศรษฐกิจ โดยมองว่าเศรษฐกิจคงจะฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยมองอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าที่ 3% ขณะที่สิ่งที่ควรต้องระวังในปี 53 คือ เรื่องอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งดูจากราคาน้ำมันและราคาสินค้า ความผันผวนของค่าเงิน ความมั่นคงทางการเมืองและความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐ
"จากแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงอาจส่งผลต่อดอกเบี้ยที่อาจปรับขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 53 และมองว่าการแข่งขันของกลุ่มธนาคารจะรุนแรงมากขึ้น" นายขรรค์ กล่าว
ด้านนายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวว่า ในปี 53 ความระมัดระวังยังเป็นสิ่งที่สำคัญต่อผู้ประกอบการทั้งในแง่การดำเนินธุรกิจ และพื้นฐานการเงิน แต่เชื่อว่า ยังสามารถเติบโตไปได้ เพราะดูจากสัญญาณตลาดคอนโดฯ ที่คาดว่าจะกลับมาคึกคัก
"จริงๆ แล้วเศรษฐกิจบ้านเราไม่ได้ตาย แต่เป็นการชะลอตัวที่เกิดจากปัจจัยภายนอกและภายในที่เข้ามากระทบมากกว่า" นายโอภาส กล่าว
ในส่วนของ LPN ในปี 52 เชื่อว่ารายได้ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ 8 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 15% จากปี 51 และจากการขายโครงการคอนโดฯ ที่ปิ่นเกล้าและโชคชัย 4 ทำให้มี Backlog สะสมเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มี Backlog 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ไปถึงปี 54 จึงทำให้การดำเนินธุรกิจของ LPN ยังคงดำเนินไปได้
สำหรับในปี 53 มองรายได้อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท บวก/ลบ ภายใต้การเปิดโครงการใหม่ 8-10 โครงการ มูลค่า 1.3-1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบซื้อที่ดินปีหน้าอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นระดับเดียวกับปี 52
"ในปีหน้าผู้ประกอบการจะต้องแอคทีฟ ในการทำธุรกิจมากขึ้นและผู้ประกอบการที่จะอยู่ได้ต้องมีจุดขายของตัวเอง" นายโอภาส กล่าวทิ้งท้าย