เหลือเวลาอีกเพียง 15 วัน พุทธศักราช 2552 ก็จะสิ้นสุดลง เมื่อเหลียวมองไปข้างหลังก็พบว่าเศรษฐกิจปีวัวเริ่มศักราชอย่างหัวหกก้นขวิด กว่าจะเริ่มรีบาวด์ได้ต้องใช้เวลาเนิ่นนานจนเข้าปลายไตรมาส 3 ...ไฮไลท์ของปี 2552 คงหนีไม่พ้นภาวะตกต่ำของค่าเงินดอลลาร์ที่ส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสหรัฐ รวมทั้งกระแส " Gold Rush" ที่ทำเอาราคาทองคำในตลาดโลกพุ่งชนแนวต้านครั้งแล้วครั้งเล่า มาปิดท้ายปลายปีด้วย "วิกฤตหนี้ดูไบ" ที่ทำเอาหลายคนตาค้างเพราะคาดไม่ถึงว่า มหานครยิ่งใหญ่หรูหราของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) แห่งนี้ จะถูกวิกฤตการเงินต้อนเข้ามุมจนถึงขนาดขอเลื่อนการชำระหนี้… แต่ก่อนที่ปีวัวจะหมดลง คอลัมน์ In Focus ขอพาท่านผู้อ่านเดินเลาะรั้วเศรษฐกิจปีวัว เพื่อย้อนรำลึกว่าวัวตัวนี้ดุแค่ไหน และขวิดใส่ใครมาบ้าง !!
ออกสตาร์ทปี 52 ได้ไม่นาน ข่าวร้ายก็ผุดขึ้นมาให้ใจละเหี่ย เมื่อเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่กลุ่ม G3 คือสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป กอดคอกันหดตัวอย่างไม่ยอมน้อยหน้ากัน เริ่มจากเศรษฐกิจของพี่ใหญ่หัวใจเสรีภาพ สหรัฐ ที่หดตัวลง 6.1% ต่อปี ตามด้วยเศรษฐกิจของน้องรองเลือดวาซาบิ ญี่ปุ่น ที่ทรุดหนักถึง 15.2% ต่อปี และเศรษฐกิจโซนยุโรปที่หดตัว 2.5% ต่อปี แม้แต่ธนาคารสหรัฐ (เฟด) ออกปากยอมรับด้วยตนเองว่าเศรษฐกิจในช่วงต้นปี 2552 ถดถอยลงอย่างหนัก เนื่องจากผู้บริโภคลดการใช้จ่ายและอัตราว่างงานที่สูงลิ่ว ... วิกฤตขนาดไหนก็คิดดูเถิดว่า ขนาดนายทิโมธี ไกธ์เนอร์ รมว.คลังสหรัฐ ยังยอมแบกรับความทุกข์ใจร่วมกับชาวอเมริกันด้วยการขอเงินเดือนเพียง 50% หรือเพียง 191,300 ดอลลาร์/ปีในฐานะรมว.คลังคนที่ 75 ของสหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่เคยได้รับเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการเฟดสาขานิวยอร์ก ที่ได้รับถึง 411,200 ดอลลาร์/ปี หนึ่งในข่าวช่วงต้นปี 2552 ที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกลุ้นระทึกมากที่สุด ก็เห็นจะเป็นข่าวที่เฟดทำการทดสอบภาวะวิกฤต (stress test) ของ 19 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ รวมถึงอเมริกัน เอ็กซ์เพรส, แบงค์ ออฟ อเมริกา คอร์ป, แบงค์ ออฟ นิวยอร์ก เมลลอน คอร์ป, ซิตี้กรุ๊ป อิงค์, โกลด์แมน แซคส์, เจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค และมอร์แกน สแตนลีย์ ... ซึ่งเลขที่ออกก็คือ มีสถาบันการเงินถึง 10 ที่ถูกระบุว่าต้องระดมทุนเป็นวงเงินรวม 7.46 หมื่นล้านดอลลาร์ รวมถึงแบงก์ ออฟ อเมริกา ซิตี้กรุ๊ป อิงก์ และมอร์แกน สแตนลีย์ ข่าวดังกล่าวฉุดตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปดิ่งเหวทันที เพราะทุกคนต่างยังไม่ลืมฝันร้ายที่สถาบันการเงินรายใหญ่อันดับ 4 อย่างเลห์แมน บราเธอร์ส ล้มละลายไปเมื่อปี 2551 และที่น่าใจหายมากกว่านั้นก็เมื่อบรรษัทประกันเงินฝากแห่งสหรัฐ (FDIC) ออกแถลงการณ์ว่าจำนวนธนาคารล้มละลายในสหรัฐในขณะนี้เพิ่มขึ้นเป็น 120 รายแล้ว วิกฤตการณ์การเงินโลกทำให้หลายองค์กรนั่งไม่ติด องค์การอนามัยโลก (WHO) เตือนว่าวิกฤตการณ์การเงินอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของประชาชน ขณะที่องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะส่งผลให้ตัวเลขว่างงานเพิ่มขึ้นอีก 40 ล้านคนภายใน 2552...แต่องค์กรที่ลงมือปฏิบัติการอย่างเป็นเรื่องเป็นราวรายแรกก็คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ที่ควักเงินทุน 1.50 แสนล้านดอลลาร์ออกมาช่วยเหลือกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกถดถอย จากนั้นช่วงกลางเดือนก.พ.ตลาดหุ้นทั่วโลกได้เฮครั้งใหญ่ เมื่อประธานาธิบดีบารัค โอบามา ตัดสินใจลงนามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 7.87 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากคณะทำงานชงเรื่องเข้าสภาคองเกรส กว่าจะผ่านด่านมาได้ก็ใช้เวลานานโข นอกจากนี้ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 มีมติอัดฉีดงบประมาณรวม 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ฐเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์การเงินและยับยั้งเศรษฐกิจโลกจากภาวะถดถอย เท่านั้นยังไม่พอ กลุ่มตลาดเกิดใหม่ หรือ emerging markets ก็พร้อมใจกันใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจีนที่เอาเงินจากคลังออกมากระตุ้นเศรษฐกิจสูงถึง 5.86 แสนล้านดอลลาร์ ....ทุกฝ่ายชื่นบานถ้วนหน้า เพราะหลับตามองเห็นสภาพคล่องที่ไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจโลกอย่างหนาแน่น ความสำเร็จในการใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนทำให้กูรูเศรษฐศาสตร์หลายคน โดยเฉพาะจิม โรเจอร์ส ออกอาการปลื้มจีนจนออกนอกหน้า ถึงขนาดเจียดเวลาเขียนรายงานชื่อ “A Bull in China: Investing Profitably in the World’s Greatest Market" เพื่อยกย่องว่ามาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนจะช่วยให้จีนสามารถต้านทานวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าสหรัฐและประเทศอื่นๆ เนื่องจากทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมูลค่ามหาศาลของจีนจะช่วยให้รัฐบาลจีนสามารถนำไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆได้อย่างคล่องตัว ซึ่งจะช่วยให้จีนนั่งบัลลังค์จ้าวตลาดโลกได้
แต่แล้วเม็ดเงินหลายล้านล้านดอลลาร์ที่รัฐบาลทั่วโลกอัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจก็เริ่มทำพิษ เพราะสภาพคล่องที่สูงเกินในระบบนั้นไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เรื่องนี้บิล กรอส ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและประธานบริษัท แปซิฟิก อินเวสท์เมนท์ เมเนจเมนท์ (พิมโค) และวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนและเจ้าของอาณาจักรเบิร์คเชียร์ แฮทธาเวย์ อันมั่งคั่ง เห็นเค้าลางเงินเฟ้อก่อนใคร จึงพร้อมใจกันออกมาส่งสัญญาณเตือนว่า มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ทำให้มีสภาพคล่องหนาแน่นในระบบนั้นจะทำให้เศรษฐกิจโลกเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อครั้งใหญ่ โดยเฉพาะบัฟเฟตต์ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นปราชญ์แห่งการลงทุน เชื่อว่า ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกจะพุ่งขึ้นรุนแรงกว่าในช่วงทศวรรษที่ 70
ภาพการก่อตัวของเงินเฟ้อเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ ร้อนถึงสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งชาติสหรัฐต้องออกมาทำการสำรวจความคิดเห็นของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกต้องเจอกับสึนามิเงินเฟ้ออย่างแน่นอน และยังคาดว่าเฟดจะไม่สามารถสกัดกั้นเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงสุดในรอบ 10 ปีได้...แต่ที่น่าตกใจมากกว่าก็คือเมื่อเฟดออกมายอมรับเองว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอาจส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและจะบั่นทอนเสถียรภาพของเศรษฐกิจในที่สุด !
เสียงเตือนที่ดังขึ้นเรื่อยๆเช่นนี้ ทำเอารัฐบาลหลายประเทศอยู่เฉยไม่ได้ และที่เรียกเสียงฮือฮามากที่สุดคงเป็นใครไม่ได้นอกจากธนาคารกลางออสเตรเลียที่นำร่องประกาศลดอัตราดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 เดือนรวด สวนทางกับประเทศยักษ์ใหญ่รายอื่นๆที่ยังคงตอกตะปูดอกเบี้ยที่ระดับต่ำไว้ยาวนานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ความเคลื่อนไหวของออสเตรเลียเป็นการส่งสัญญาณว่าพวกเขาหวาดหวั่นกับพิษภัยเงินเฟ้อมากกว่าเศรษฐกิจถดถอย
เห็นออสเตรเลียนำร่องไปแล้ว อินเดียซึ่งมีระบบเศรษฐกิจใหญ่ไม่แพ้กันก็ตัดสินใจเริ่มถอนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจตามมาในช่วงปลายเดือนต.ค. โดยธนาคารกลางอินเดียออกคำสั่งให้ธนาคารพาณิชย์เพิ่มการสำรองสภาพคล่อง 25% จากเดิม 24% พร้อมกับปิดกองทุนพิเศษในการซื้อคืนหลักทรัพย์สำหรับธนาคาร อีกทั้งยังปิดวงเงินสว็อปอัตราแลกเปลี่ยนสำหรับภาคธนาคาร และลดวงเงินการรีไฟแนนซ์สินเชื่อเพื่อการส่งออกลงสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตการณ์ โดยอยู่ที่ระดับ 15% จาก 50% ซึ่งมีผลบังคับใช้ทันที!
บทบาทหน่วยทะลวงที่นำร่องถอนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของอินเดียและออสเตรเลียทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะทำให้ประเทศอื่นๆแห่ถอนมาตรการตาม ที่เด่นชัดก็คือเมื่อสำนักข่าวบลูมเบิร์กได้ทำผลสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกพบว่า ความเชื่อมั่นของผู้เชี่ยวชาญร่วงลงในเดือนพ.ย.เพราะกังวลว่าการถอนมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัว
สถานการณ์สะท้านปี 52 ที่มาแรงไม่แพ้เรื่องอื่น ก็เห็นจะเป็นวิกฤตการณ์ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำที่ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าดอลลาร์ที่อ่อนแอเช่นนี้อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และ "หน้าตา" ของสหรัฐในฐานะพี่ใหญ่ของระบบเศรษฐกิจโลก ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดอลลาร์ตกต่ำอย่างน่าใจหายในปีนี้มาจากการที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 0 - 0.25% มาเนิ่นนานตั้งแต่ปลายปี 2551 และยังไม่มีเค้าว่าจะปรับดอกเบี้ยขึ้นจนเวลาล่วงเลยมาจนถึงไตรมาส 4 ปี 2552 สถานการณ์ดอลลาร์ตกต่ำทำให้สหรัฐถูกกระหน่ำรอบด้าน ทั้งข่าวลือและข่าวจริง แต่ที่แรงสุดๆก็เมื่อหนังสือพิมพ์ ดิ อินดิเพนเดนท์ ของอังกฤษกระพือข่าวว่า กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) ดอดเจรจาร่วมกับจีน รัสเซีย ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส เพื่อ "ยุติ" การใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐในการทำธุรกรรมซื้อขายน้ำมัน ข่าวดังกล่าวสร้างความแตกตื่นในตลาดปริวรรตเงินตราทั่วโลกและส่งผลให้ดอลลาร์ถูกเทขายอย่างหนัก ดอลลาร์ถึงคราวกระอักอีกครั้งเมื่อจีนซึ่งเป็นคู่ชิงบัลลังค์มหาอำนาจทางเศรษฐกิจกับสหรัฐเรียกร้องทั่วโลกให้ใช้สกุลเงิน SDR เป็นค่ามาตรฐานในระบบสำรองเงินตราของโลกแทนสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่ที่ทำเอาสหรัฐนั่งไม่ติดก็ตอนที่คุณอู๋ หย่งติง ผู้อำนวยการสถาบันเศรษฐกิจและการเมืองโลก ประจำสถาบันราชบัณฑิตสังคมศาสตร์ของจีน กดดันให้รัฐบาลสหรัฐรับประกันพันธบัตรมูลค่า 6.82 แสนล้านดอลลาร์ที่จีนถือครองอยู่ อ้างว่าจีนไม่มั่นใจในสถานะของดอลลาร์อีกต่อไป การที่จีนส่งคุณอู๋ออกหน้าในครั้งนี้เพื่อส่งสัญญาณผ่านสายลมไปถึงสหรัฐว่า พันธบัตรสกุลเงินดอลลาร์มูลค่าสูงถึง 6.82 แสนล้านดอลลาร์ในมือของจีนนั้น เป็น "ไพ่ใบใหญ่" ที่จีนพร้อมจะใช้ต่อกรกับสหรัฐได้ทุกเมื่อ การร่วงลงของสกุลเงินดอลลาร์เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ "Gold Rush" หรือกระแสตื่นทอง ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลงทำให้สัญญาทองคำในตลาดโลกมีราคาถูกลง เมื่อเป็นเช่นนั้น นักลงทุนจึงแห่กันซื้อทองคำเก็บไว้เพื่อป้องกันความเสี่ยงในยามที่เศรษฐกิจผันผวน นอกเหนือจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนยวบแล้ว กระแสแห่ซื้อทองคำยังเกิดขึ้นจากข่าวที่ธนาคารกลางหลายแห่งเข้าซื้อทองคำจากไอเอ็มเอฟ รวมถึงธนาคารกลางศรีลังกาที่ซื้อทองคำน้ำหนัก 10 เมตริกตัน ธนาคารกลางอินเดียซื้อ 200 เมตริกตัน และธนาคารกลางมอริเชียสที่ซื้อไป 2 เมตริกตัน กระแสตื่นทองทำให้จิม โรเจอร์ส เจ้าเก่า พยากรณ์ล่วงหน้าว่าราคาทองคำตลาดโลกจะพุ่งขึ้นแตะ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ แต่ท่านศาสตราจารย์ นูเรียล รูบินี ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ออกอาการไม่เห็นด้วย จึงปฏิบัติการตอบโต้โรเจอร์กลางที่ประชุม Inside Commodities Conference ที่นิวยอร์กว่า คำพยากรณ์ที่ว่าราคาทองคำจะแตะ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์นั้น "ไร้สาระ และเป็นการคาดการณ์ที่ผิดหลักปัจจัยพื้นฐาน" ...มหากาพย์การพยากรณ์ครั้งนี้ ใครจะถูก ใครจะผิด ต้องรอดูตอนจบ ...แต่ที่แน่ๆ สัญญาทองคำ COMEX เมื่อคืนนี้ (15 ธ.ค.) ยืนอยู่ที่ระดับ 1,123 ดอลลาร์/ออนซ์ ... จากระดับปิดเมื่อวันที่ตลาด COMEX เปิดทำการวันแรกในปี 2552 ที่ 857.80 ดอลลาร์/ออนซ์ ... ลองนึกดูเถิดว่าโอกาสที่ราคาทองจะพุ่งชน 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ มีมากน้อยแค่ไหน!
เมื่อนาวาเศรษฐกิจปีวัวลอยโซซัดโซเซมาจนถึงปลายเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นไตรมาสสุดท้ายของปี สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงก่อนหน้านั้นไม่กี่วันก็เป็นไปแบบ "เนิบๆ" และ "นิ่งๆ" เพราะเป็นช่วงที่ชาวอเมริกันกำลังฉลองเทศกาลขอบคุณพระเจ้า ตลาดหุ้นทั่วโลกเคลื่อนไหวแบบเนือยๆเพราะนักลงทุนเริ่มปรับโพสิชั่นการลงทุนช่วงปลายปี...แต่ทั่วโลกต้องสะดุ้งโหยงกับข่าวที่ว่าบริษัท ดูไบ เวิล์ด ของรัฐบาลดูไบ วางแผนเลื่อนการชำระหนี้จำนวน 3.5 พันล้านดอลลาร์ซึ่งครบกำหนดในเดือนธ.ค.ออกไปเป็นเดือนพ.ค.ปีหน้า ซึ่งถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่สุดในรอบ 8 ปี หลังจากในปีพ.ศ.2544 รัฐบาลอาร์เจนติน่าเคยตกที่นั่งผิดนัดชำระหนี้ครั้งใหญ่มาแล้ว
ข่าวดูไบซึ่งเคยเป็นหนึ่งในความหวังของใครต่อใครว่าจะมีส่วนเศรษฐกิจโลกให้เฟื่องฟูในปีหน้านั้น ทำตลาดหุ้นทั่วโลกตื่นตระหนกราวกับผึ้งแตกรัง แต่ที่ร้อนใจกว่าใครก็คงเป็นบรรดาธนาคารเจ้าหน้าของดูไบ รวมถึง HSBC, ธนาคารลอยด์ แบงกิ้ง กรุ๊ป, รอยัล แบงค์ ออฟ สก็อตแลนด์ และธนาคารบาร์เคลย์ส ขณะที่นักวิเคราะห์จากหลายสถาบัน รวมถึงมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส กังวลว่าดูไบอาจสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางการเงินในภูมิภาคอ่าวเปอร์เซีย และอาจสูญเสียสถานะของศูนย์กลางการค้าและการบริการ อีกทั้งยังดับฝันของดูไบที่ต้องการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านการธนาคารในภูมิภาค
แล้วก็เหมือนฟ้ามาโปรด ตลาดหุ้นทั่วโลกรีบาวด์ถ้วนหน้า รับข่าวอาบูดาบีที่ขี่ม้าขาวเข้าแทรกแซงวิกฤตหนี้สินดูไบ ด้วยการอัดฉีดเงิน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ช่วยเหลือ โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยให้ดูไบสามารถชำระหนี้หุ้นกู้อิสลามวงเงิน 4.1 พันล้านดอลลาร์ที่เพิ่งครบกำหนดชำระไปเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา จากนั้นผ่านไปแค่ชั่วโมงเดียวแหล่งข่าวที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลดูไบก็ออกมาปูดข่าวว่า ธนาคารกลางของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) จะอัดฉีดสภาพคล่องตามความจำเป็นให้แก่ธนาคารต่างๆ ที่ปล่อยกู้แก่ดูไบ เวิลด์
...ทุกฝ่ายโล่งใจ แต่จะโล่งได้ถึงตับไตไส้พุงหรือไม่นั้น ต้องรอดูวันจันทร์ที่ 21 ธ.ค.นี้ เพราะบรรดาธนาคารซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของดูไบ เวิลด์จะตัดสินใจว่าควรจะอนุมัติการขอพักชำระหนี้ 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์ของดูไบ เวิลด์หรือไม่ หลังจากที่การให้เงินช่วยเหลือจำนวน 1 หมื่นล้านดอลลาร์ ของอาบูดาบีช่วยซื้อเวลาในการเลื่อนชำระหนี้ออกไปได้บ้าง
แล้วฤดูกาลแห่งการพยากรณ์เศรษฐกิจก็มาถึง ทุกช่วงปลายปีจะมีหลายองค์กรออกมาเปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจโลก เริ่มที่ไอเอ็มเอฟที่ผุดรายงาน "World Economic Outlook" โดยคาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.1% ในปี 2553 โดยเชื่อว่า "เอเชีย" จะเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจโลกให้ฟื้นตัวขึ้น ด้านองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ออกรายงาน "The World Economic Situation and Prospects 2010 โดยระบุว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตรา 2.4% ในปี 2553 เนื่องจากรัฐบาลทั่วโลกพร้อมใจกันใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนับตั้งแต่ช่วงปลายปี 2551 และเชื่อว่าความแข็งแกร่งของเอเชียจะเป็นกลไกสำคัญที่หนุนเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว ... คนเอเชียอย่างเราได้แต่ยิ้มแก้มปริ อย่างน้อยก็มีส่วนในการสร้างประวัติศาสตร์กับเขาเหมือนกัน ท้องฟ้าเศรษฐกิจปีหน้าจะมืดมัวหรือสดใสย่อมไม่มีใครรู้ แต่กฏเกณฑ์ทางธรรมชาติสอนเราอย่างหนึ่งว่า ... ฟ้าหลังฝนย่อมสวยงามเสมอ และคอลัมน์ In Focus ก็คาดหวังว่าผู้อ่านจะเชื่อแบบนั้นเช่นกัน