นักวิชาการ ม.รังสิต ลดคาดการณ์ GDP ปี 53 เหลือ 1.2-2.2%จากกรณีมาบตาพุด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 16, 2009 16:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม.รังสิต ได้ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 53 เดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2-3% มาอยู่ที่ระดับ 1.2-2.2% จากปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมผ่านทางการชะลอตัวของภาคลงทุน การจ้างงาน ภาคการค้าระหว่างประเทศและภาคการผลิต

นอกจากนั้น ยังมองว่าหากในอีก 4-5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำกว่า 3% อาจเกิดปัญหาการคลัง แต่หากเศรษฐกิจเติบโตในระดับ 3-4 % ฐานะการคลังจะประคองตัวอยู่ได้ และจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ แม้มีภาระจ่ายการชำระคืนหนี้เงินกู้ก็ตาม

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย มี 3 ปัจจัยสำคัญ คือ วิกฤติมาบตาพุด วิกฤติหนี้สินดูไบ และ การลดค่าเงินของเวียดนาม จะทำให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลดลง 0.8% มูลค่าเสียหายเบื้องต้นประมาณ 71,959 ล้านบาท ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อเนื่องได้อย่างชัดเจน ขึ้นอยู่กับว่าความยืดเยื้อของการแก้ปัญหากรณีมาบตาพุด

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า จากกรณีศาลปกครองสูงสุดให้ระงับโครงการลงทุนมาบตาพุดส่งผลกระทบในด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักธุรกิจต่อระบบการลงทุนในอุตสาหกรรมหนักของไทย ผลกระทบด้านภาคการผลิตอาจทำให้เกิดการขาดแคลนและชะงักงันในการผลิตสินค้าบางประเภท เช่น ก๊าซ LPG และวัตถุดิบในการผลิตอุตสาหกรรมปลายน้ำ เป็นต้น ผลกระทบด้านการลงทุน การส่งออก การจ้างงาน และการบริโภค ผลกระทบต่องบประมาณของรัฐบาลและการจัดเก็บรายได้ผลกระทบต่อชุมชนสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการลงทุนในพื้นที่ภาคตะวันออก และผลกระทบต่อสถาบันการเงินและตลาดทุน

ทั้งนี้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อจะทำให้การจ้างงานโดยตรงและโดยอ้อมลดลงไม่ต่ำกว่า 200,000 คน โดยจะมีคนว่างงานขั้นต้นทันทีประมาณ 40,000-60,000 คน ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 2,000-7,000 ล้านดอลลาร์ จากการชะลอตัวของการนำเข้าเพื่อการผลิต สร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งทำให้ภาคส่งออกได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรง

นายอนุสรณ์ เสนอแนะว่า รัฐบาลควรอัดฉีดงบประมาณการใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลต้องไม่กู้เพิ่ม แต่หารายได้จากการปรับโครงสร้างภาษีที่ไม่เคยมีการจัดเก็บจากบรรดาอภิสิทธิ์ชน ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ไม่ควรขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป แม้ปี 53 อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งควรมีการบริหารจัดการให้เงินบาทให้อ่อนค่าลงเพื่อช่วยภาคการส่งออก เนื่องจากเกรงว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่เวียดนามจะลดค่าเงินอีกในปีหน้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ