ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเร่งผู้ประกอบการให้จัดส่งข้อมูลประเมินผลกระทบกรณีถูกระงับโครงการตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองสูงสุด โดยเบื้องต้นคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อรายได้ภาคอุตสาหกรรมกว่า 3.3 แสนล้านบาท/ปี และเตรียมหารือกระทรวงแรงงานเพื่อวางมาตรการเยียวยาแรงงานที่ถูกเลิกจ้าง
"ได้สั่งการให้ภาคเอกชนกลับไปรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นและส่งข้อมูลทั้งหมดกลับมาให้ในช่วงบ่ายวันที่ 18 ธันวาคมนี้ เพื่อที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จะได้นำไปวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ และรวบรวมเสนอให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาในวันอังคารที่ 22 ธันวาคมนี้" นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรมรวบรวมข้อมูลผลกระทบของภาคเอกชนในกรณีดังกล่าว เพื่อหาช่องทางช่วยเหลือให้โครงการที่ไม่สร้างปัญหามลพิษได้เดินหน้าต่อไป โดยจะยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลปกครองอีกครั้ง
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า เบื้องต้นคาดว่าจะมีผลกระทบต่อรายได้ของภาคอุตสาหกรรม ทั้งในส่วนที่อยู่ในการดูแลของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมกว่า 3.3 แสนล้านบาท/ปี
"ขณะนี้ยังมีอีกหลายโครงการที่ยังไม่ส่งข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากคำสั่งศาล ทำให้ไม่สามารถประเมินความเสียหายที่ชัดเจนได้ และในระหว่างนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างการพิจารณาว่าโครงการใดบ้างที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินการแล้ว 10-15 โครงการ จะสามารถยื่นอุทธรณ์ เพื่อปลดล็อคจากคำสั่งศาลให้ดำเนินกิจการต่อไปได้"นายวิฑูรย์ กล่าว
ส่วนผลกระทบต่อการจ้างงานนั้น เบื้องต้นคาดว่าโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างจะส่งผลกระทบต่อแรงงานประมาณ 30,000 คน แต่หากโครงการสามารถเดินหน้าต่อไปจะช่วยให้มีการจ้างงานเพิ่มอีกประมาณ 15,000 คน โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่อหาทางบรรเทาผลกระทบจากการเลิกจ้างแรงงานดังกล่าว