คณะกรรมาธิการ(กมธ.)การคมนาคม วุฒิสภา ชี้สัมปทานทางด่วนดอนเมืองโทลล์เวย์เป็นสัญญาทาส เตรียมสอบผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการแก้ไขสัญญา พร้อมแนะรัฐบาลหาทางออกด้วยการชดใช้เงินให้แก่บริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานแทนการผลักภาระให้กับประชาชน
"(สัญญา)มีการเขียนไว้ค่อนข้างรัดกุมมาก และแทบไม่มีช่องทางให้สามารถต่อรองได้เลย ซึ่งถือเป็นสัญญาทาสที่รัฐเสียเปรียบ และเป็นการเพิ่มภาระให้กับประชาชน เนื่องจากสัญญาเดิมจะหมดในปี พ.ศ.2560 แต่กลับมีการแก้ไขสัญญาเพิ่มให้อีก 17 ปี เป็นหมดอายุ พ.ศ.2577 ด้วยเหตุผลว่าเป็นเพราะรัฐผิดสัญญาที่ทำเส้นทางคู่ขนานกับดอนเมืองโทลล์เวย์"นายธวัช บวรวนิชกุล ส.ว.สรรหา ในฐานะเลขานุการ กมธ.ฯ กล่าว
วันนี้ กมธ.ฯ ได้เชิญอธิบดีกรมทางหลวง ตัวแทนจากสำนักอัยการสูงสุด และ บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง มาชี้แจงกรณีเตรียมปรับขึ้นค่าผ่านทาง โดยเริ่มในวันพรุ่งนี้(22 ธ.ค.52)ซึ่งอัตราค่าผ่านทางใหม่ ประกอบด้วย เส้นทางขาออก ช่วงดินแดง-ดอนเมือง รถ 4 ล้อ จัดเก็บ 60 บาท จากเดิม 35 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ เก็บ 90 บาท จาก 65 บาท ส่วนช่วงดอนเมือง-อนุสรณ์สถาน รถ 4 ล้อ เก็บ 25 บาท จาก 20 บาท ขณะที่รถมากกว่า 4 ล้อ เก็บ 35 บาท จาก 30 บาท หรือตลอดเส้นทางเพิ่มเป็น 85 บาท จาก 55 บาท ขณะที่รถมากกว่า 4 ล้อ เพิ่มเป็น 125 บาท จาก 95 บาท
ส่วนเส้นทางขาเข้า ช่วงอนุสรณ์สถาน-ดินแดง รถ 4 ล้อ เก็บ 85 บาท จาก 55 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ เก็บ 125 บาท จาก 95 บาท และช่วงดอนเมือง-ดินแดง รถ 4 ล้อ เก็บ 60 บาท จาก 35 บาท รถมากกว่า 4 ล้อ เก็บ 90 บาท จาก 65 บาท โดยสัญญาสัมปทานระบุให้ปรับขึ้นค่าผ่านทุก 5 ปี จนกว่าจะหมดอายุสัมปทานในวันที่ 12 ก.ย.2577 และครั้งต่อไปจะปรับในวันที่ 22 ธ.ค.2557
เลขานุการ กมธ.ฯ กล่าวว่า รัฐบาลควรใช้วิธีเจรจากับผู้ได้รับสัมปทานว่าเกิดความเสียหายจากการที่รัฐสร้างเส้นทางคู่ขนานอย่างไร และจ่ายค่าเสียหายตรงจุดนี้แทน มิใช่ขยายอายุสัมปทานและเพิ่มภาระให้กับประชาชน เพราะในสัญญาที่มีการแก้ไขเมื่อปี พ.ศ.2550 ระบุให้มีการขึ้นค่าผ่านทางทุก 5 ปีๆ ละ 5 บาทอยู่แล้ว
"ในอนาคตอาจจะเกิดข้อเรียกร้องในลักษณะนี้จนนำมาสู่การขยายอายุสัมปทานไม่จบสิ้น และยังถือว่าตัดโอกาสที่ภาครัฐจะขยายการบริการให้กับประชาชนอีกด้วย ซึ่งกรรมาธิการฯ จะตรวจสอบกรณีการเปลี่ยนข้อตกลงว่ามีเงื่อนงำแอบแฝงหรือไม่" นายธวัช กล่าว
ส่วนกรณีที่ บมจ.การบินไทย(THAI)จะยกเลิกเที่ยวบินภายในประเทศเส้นทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน พิษณุโลก และอุบลราชธานี เนื่องจากประสบภาวะขาดทุนแล้วให้บริษัท นกแอร์ เข้ามาทำการบินในเส้นทางดังกล่าวแทน ซึ่ง กมธ.ฯ เกรงว่าผลสุดท้ายแล้วประชาชนจะเป็นผู้เสียประโยชน์ และไม่ได้รับความสะดวกสบายเท่าที่ควร เนื่องจากที่ผ่านมาจากการตรวจสอบสายการบินนกแอร์มีเครื่องบินเพียง 6 ลำ และบินถึง 10 เส้นทาง รวมทั้งที่ผ่านมาหากผู้โดยสารไม่เต็มก็มีการยกเลิกเที่ยวบิน
"ก่อนที่บริษัทการบินไทยจะยกเลิกเที่ยวบิน ควรตรวจสอบและให้คำตอบว่าสามารถบังคับบริษัท นกแอร์ ให้บริการประชาชนอย่างคุ้มค่าในราคาที่เหมาะสมได้หรือไม่ เนื่องจากการบินไทยถือหุ้นในบริษัทนกแอร์เพียง 39 เปอร์เซนต์ อีกทั้งหวั่นเกรงเรื่องนี้จะเป็นการนำกำไรไปให้เอกชนหรือไม่"นายธวัช กล่าว