นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้จัดตั้งกรมใหม่ลำดับที่ 13 ขึ้นในหน่วยงาน คือ “กรมหม่อนไหม" โดยเมื่อวันที่ 26 พ.ย.52 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงลงพระปรมาภิไธย ในพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 7) พ.ศ.2552 และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.52 โดยกฎหมายมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 4 ธ.ค.52
ขั้นตอนต่อไป รมว.เกษตรและสหกรณ์จะพิจารณาลงนามในร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมหม่อนไหม เพื่อให้มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป โดยจะมีการถ่ายโอนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับราชการ และเจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรฯ เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงการโอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน งบประมาณ สิทธิ หนี้และภาระผูกพัน และอัตรากำลังเฉพาะสถาบันหม่อนไหมฯไปเป็นของกรมหม่อนไหม
กรมหม่อนไหมจะรับผิดชอบเรื่องหม่อนไหมทั้งระบบ และเตรียมการรองรับเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในการลดภาษีไหมดิบลง 0% ในปี 53 เป็นองค์กรขนาดเล็กที่คล่องตัวแต่มีประสิทธิภาพสูง ทำงานแบบบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ตลอดจนด้านการออกแบบแฟชั่น ซึ่งจะเป็นจุดขายสำคัญของไหมไทย ทั้งในตลาดทั่วไปและตลาดเฉพาะ (Niche Market)
สำหรับโครงสร้างกรมหม่อนไหม มีการบริหารจัดการออกไปเป็นสำนักงานส่วนกลาง 4 สำนัก เพื่อดำเนินการในด้านการบริหาร กำหนดนโยบาย แผนงาน โครงการให้เป็นระบบและถ่ายทอดไปสู่การบริหารในส่วนภูมิภาค ผ่านทางสำนักงานเขต 5 เขต ได้แก่ ภาคเหนือที่แพร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนที่อุดรธานี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลางที่ขอนแก่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่นครราชสีมา และภาคใต้ที่ชุมพร
สำนักงานเขตจะทำหน้าที่เหมือนกรมย่อย ควบคุม กำกับ ดูแล การบริหารจัดการลงไปสู่ศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติฯ ที่เป็นเครือข่ายกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ จำนวน 21 ศูนย์ ภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกัน คือ การดำเนินการให้หม่อนไหมและผลิตภัณฑ์ได้รับการอนุรักษ์ พัฒนาและส่งเสริมจนเป็นที่ยอมรับ สินค้าไหมไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และเกิดค่านิยมในการบริโภคสินค้าไหมไทยทั้งในและต่างประเทศ โดยมีงบประมาณในปี 54 ที่ทำคำขอไว้เบื้องต้นคือ 991 ล้านบาท