นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี คาดว่า ในสัปดาห์หน้าคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะทบทวนประกาศของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ(HIA) รวมทั้งความชัดเจนในขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชนเพื่อให้โครงการลงทุนต่าง ๆ สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ในวันนี้ ครม.ได้รับทราบสถานะที่แท้จริงของ 65 โครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดที่ถูกศาลสั่งระงับ โดยพบว่ามี 19 โครงการ จากใน 42 โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ ที่เมื่อภาคเอกชนนำไปเทียบเคียงกับการพิจารณาของศาลปกครองก่อนหน้านี้ที่ได้ผ่อนปรนให้ 11 โครงการจาก 76 โครงการสามารถเดินหน้าต่อไปได้นั้น เชื่อว่าทั้ง 19 โครงการน่าจะเข้าหลักเกณฑ์เดียวกัน
ทั้งนี้ 19 โครงการดังกล่าว เป็นโครงการอยู่ระหว่างเตรียมดำเนินการ 4 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 8 โครงการ และ กำลังก่อสร้าง 7 โครงการ ซึ่งภาคเอกชนจะต้องยื่นหนังสือต่อศาลปกครองเองโดยตรงเพื่อขอผ่อนผันต่อไป
ขณะที่ นายชาญชัย ชัยรุงเรือง รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานต่อครม.วันนี้ว่าโครงการลงทุนในพื้นที่มาบตาพุดทั้ง 65 โครงการ ตามสถานะและการดำเนินการ 1.กลุ่มโครงการที่อยู่ในเกณฑ์การพิจารณา จำนวน 42 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มที่ดำเนินการแล้ว 11 โครงการ กลุ่มที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว 9 โครงการ และกลุ่มที่กำลังก่อสร้างอยู่ 22 โครงการ มูลค่าการลงทุน 185,032 ล้านบาท มีการจ้างแรงงาน 25,489 คน
2.กลุ่มโครงการที่ยังไม่ก่อสร้างมี 19 โครงการ (มีโครงการที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง 4 โครงการ) มูลค่าการลงทุนรวม 42,251 ล้านบาท มีการจ้างแรงงาน 5,569 คน
3.กลุ่มโครงการที่คิดว่า มีเหตุผลเพียงพอที่จะขอยื่นอุทธรณ์ขอผ่อนผันชั่วคราว จำนวน 19 โครงการ เป็นกลุ่มที่ดำเนินการแล้ว 4 โครงการ ก่อสร้างแล้วเสร็จ 8 โครงการ และกำลังก่อสร้าง 7 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 77,069 ล้านบาท
และ 4.กลุ่มโครงการที่ต้องหาเหตุผลอื่นในการขอผ่อนผันต่อศาล 23 โครงการ เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการ 7 โครงการ โรงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ 1 โครงการ และโครงการที่กำลังก่อสร้าง 15 โครงการ
นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีอุตสาหกรรม กล่าวว่า เหตุผลตัวเลข 19 โครงการที่จะขอยื่นอุทธรณ์เทียบเคียงกับเหตุผลที่ศาลปกครองมีคำสั่งให้ 11 โครงการเดินหน้าต่อได้ที่อยู่ในกิจกรรมหรือโครงการที่ไม่รุนแรง หรือเป็นโครงการที่มีการย้ายเครื่องจักร เทคโนโลยี หรือไม่มีการปลดปล่อยมลพิษ มีการแผนในการลดการปลดปล่อยมลพิษโดยตรง
ทั้งนี้ ครม.มีมติให้ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงพลังงาน ไปหารือกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้ภาคเอกชน แยกแต่ละโครงการเพื่อยื่นศาลปกครองต่อไป โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจะเป็นเป็นตัวกลางให้กับภาคเอกชนเป็นผู้ยื่นอุทธรณ์เป็นรายๆไป เพราะแต่ละโครงการอาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน เช่น โครงการด้านปิโตรเคมี พลังงาน และเหล็ก เป็นต้น