นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารองค์การสะพานปลา (อสป.) ครบถ้วนแล้ว จึงเร่งรัดให้ดำเนินงานใน 2 เรื่องให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ การจัดทำแผนพัฒนาองค์การสะพานปลา โดยให้จัดทำแผนงานและบัญชี แยกเป็น 2 ส่วนขาดจากกัน ทั้งในเชิงส่งเสริมสวัสดิการทางสังคม และเชิงธุรกิจเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร เพื่อนำกลับไปพัฒนาสร้างประโยชน์ให้กับชาวประมง รวมทั้งเป็นกำลังใจกับบุคลากรที่จะมองเห็นผลประกอบการและผลตอบแทนที่ชัดเจนอันเกิดจากการทุ่มเททำงานหนัก
ส่วนอีกประเด็นหนึ่ง คือ การพัฒนาพื้นที่ 8 ไร่ ซึ่งเป็นบริเวณที่ตั้งของสะพานปลากรุงเทพในปัจจุบัน ให้เป็นศูนย์บริการจัดการธุรกิจประมงครบวงจรและศูนย์กลางการส่งออกสินค้าประมง เนื่องจากพื้นที่อยู่ในแหล่งเศรษฐกิจของเมืองหลวง จึงต้องหารายได้ให้เหมาะสมกับศักยภาพของที่ดิน โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือกับกรุงเทพมหานคร ในการร่วมลงทุนโครงการดังกล่าว ทั้งด้านการบริหารจัดการ สัดส่วนการลงทุน รูปแบบสถานที่ อาทิ Factory Outlet, Seafood Market ฯลฯ ซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าภายใน 2-3 เดือนนี้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อครม.ภายในเดือน ม.ค.53 เพื่อแก้ไขกฎหมายหรือมติคณะรัฐมนตรีปี 34 เพื่อให้องค์การสะพานปลาสามารถเช่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวจากกรมธนารักษ์ในระยะยาว 10-30 ปี จากเดิมที่ต่อสัญญาปีต่อปี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นระหว่างภาครัฐด้วยกันหรือผู้ประกอบการเอกชนในการร่วมลงทุน
สำหรับแผนงานสำคัญในปี 53 ที่นอกจากจะพัฒนาคุณภาพชีวิต ให้ชาวประมงแล้ว ยังคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับ อสป. เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10-15 ล้านบาท ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาสะพานปลากรุงเทพดังที่กล่าวไปข้างต้น 2) โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงสตูลให้ได้มาตรฐานสุขอนามัย 3) โครงการปรับปรุงสุขอนามัยท่าเทียบเรือประมงระนอง เพื่อรองรับมาตรฐานสหภาพยุโรป รวมทั้งเพิ่มตลาดสัตว์น้ำประมาณ 40 แพปลา และให้เอกชนเช่าที่ดินริมทะเล 40 ไร่ เพื่อขอทำเขต free zone 4) โครงการศูนย์อาหารฮาลาล ที่ท่าเรือประมงปัตตานี เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพให้กับชาวประมงในพื้นที่ปัตตานีและใกล้เคียง
5) โครงการปรับปรุงท่าเทียบเรือประมงหัวหินเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ 6) โครงการจัดตั้งตลาดขายส่งสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือประมงนราธิวาส โดยจัดพื้นที่ให้ผู้ค้าสัตว์น้ำรวบรวม และบรรจุสินค้า ส่งจำหน่ายไปยังมาเลเซีย 7) โครงการตลาดสินค้าสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ คัดเลือกผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานเพื่อผลิตสินค้าภายใต้ แบรนด์ อสป. จำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ 8) โครงการสนับสนุนการทำประมงนอกน่านน้ำ
9) แผนการหารายได้จากการบริหารทรัพย์สิน อาทิ การจัดตั้ง Seafood Market ที่ท่าเทียบเรือภูเก็ต โดยให้ซื้อวัตถุดิบจากประมงพื้นบ้าน และ 10) แก้ปัญหาผู้เพาะเลี้ยงกุ้ง 11 จังหวัดภาคใต้ โดยใช้ท่าเทียบเรือ อสป. เป็นจุดรวบรวมและเป็นตลาด ซื้อขายประมาณ 10,000 ตัน/ปี อีกด้วย